ย้อนรอยความเห็นกฤษฎีกาไขปม'อิ๊งค์'ตั้ง'ณัฐวุฒิ'ที่ปรึกษาของนายกฯ
เปิดบันทึกกฤษฎีกาตีความที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ กรณีพิชิต ไชยมงคล จุดผลุ'พิชิต ชื่นบาน โมเดล' ตั้งข้อสังเกตปมนายกฯแพทองธาร แต่งตั้ง 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' อาจซ้ำตามรอย 'เศรษฐา ทวีสิน'
กรณีนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประเด็น“พิชิต ชื่นบาน โมเดล”ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 348/2567 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯเพิ่มเติม ลำดับที่ 2 นายนัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ข้อเท็จจริงคือ
1.นายนัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ยังไม่หมดอายุความ
2.นายกฯตั้งนายนัฐวุฒิ เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ
ประเด็นที่ต้องพิจารณา
1.นายนัฐวุฒิ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี สามารถรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ
2.ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ประเด็นนี้กฤษฎีกาตีความ 3 คณะว่า ที่ปรึกษาของนายกฯเป็นตำแหน่งทางการเมือง
3.เมื่อตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งทางการเมือง กรณีของนายนัฐวุฒิจะเข้าข้อห้าม ไม่มีคุณสมบัติรับตำแหน่งทางการเมือง เหมือนกรณีนายพิชิต ชื่นบาน ใช่หรือไม่
4.เมื่อเข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติ จะทำให้นางสาวแพทองธารผู้ตั้ง หลุดจากตำแหน่ง เหมือนนายเศรษฐา ทวีสิน ใช่หรือไม่
ต่อมา นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบคำถามถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากนายณัฐวุฒินั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ว่า กฤษฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้ว ขอให้สื่อไปศึกษาดูความเห็นว่าตรงตามที่มีการวินิจฉัยไว้แล้วหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นบันทึกสำนักงานคณะกรรมกากฤษฎีกา เรื่อง ฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 139/ 2547 มีเนื้อหาดังนี้
"ข้าราชการการเมือง" เป็น" สถานะที่กำหนดให้มีขึ้นตามกฎหมายและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น ตามมตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมืองพ.ศ. 2535
ทั้งนี้ สำหรับ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ได้มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) เรื่องเสร็จที่ 481/2535 ว่า
"ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมดอันเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายจึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันจึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ข้าราชการการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535
ดังนั้น คำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" นี้ จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและเมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรีในการช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่าง ๆ ของกระทรวงตามที่ได้รับมอบหมาย ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงอยู่ในความหมายของคำว่า"ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ด้วย
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา