posttoday

ผู้แทนการค้าเผยนิวซีแลนด์-ไอร์แลนด์หนุนการลงทุน EECและท่องเที่ยวไทย

24 กันยายน 2566

ผู้แทนการค้าเผยนิวซีแลนด์ปลื้มไทย หนุนการลงทุน EEC-เกษตร-สอนภาษา ส่วนไอร์แลนด์สนใจเปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ดับลิน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับนายโจนาธาน เดล คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ว่า ตนได้เชิญชวนให้นักธุรกิจนิวซีแลนด์มาเพิ่มการลงทุน EEC เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยเองยังต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรโดยเฉพาะน้ำนมดิบและการจัดจำหน่าย รวมทั้งต้องการให้นิวซีแลนด์สนับสนุนผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษา และจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษในด้านเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว

โดยทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ยินดีที่จะสนับสนุน และต้องการใช้โอกาสที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) จะครบรอบ 20 ปีในปีหน้า เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมานิวซีแลนด์ได้ลดภาษีให้กับสินค้าจากไทยแล้วทั้งหมด ส่วนไทยจะลดภาษีให้กับสินค้านิวซีแลนด์ทั้งหมดภายในปี 2568 โดยยังมีสินค้าที่ไทยเรียกเก็บภาษีศุลกากรอยู่ ได้แก่ นมและครีม (น้ำนมดิบ) เครื่องดื่มนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย

ปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปนิวซีแลนด์ได้แล้ว 7 รายการ คือ สับปะรด มะม่วง มะพร้าว มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สินค้าผักสด 2 รายการ คือ เผือกและขิง สินค้าประมง 2 รายการ คือ ปลานิลและปลาสวาย และสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป 3 รายการ คือ เนื้อปลาแซลมอนแปรรูป เนื้อโคบรรจุกระป๋อง และเนื้อเป็ดปรุงสุก ขณะที่ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 นั้น ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น การศึกษาและการท่องเที่ยว และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

นายโจนาธาน เดล คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยและนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย

ไม่เพียงเท่านั้น นางนลินียังได้หารือกับนายแพทริก เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไอริชที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 100,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คนต่อปี ทำให้เห็นถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตาม ทั้งประเทศไทยและไอร์แลนด์ต่างแสดงความสนใจเรื่องการเปิดเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ดับลิน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งต้องการยกระดับความร่วมมือทางด้านการศึกษา เพราะไอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในภาษาราชการ และมีมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก

แต่ขณะนี้ ยังมีนักเรียนนักศึกษาไทยไม่มากนัก ดังนั้นในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์จึงต้องการเห็นความคืบหน้าของความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป พร้อมทั้งได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงดับลิน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกด้วย

นางนลินี ทวีสินผุ้แทนการค้าไทยและนายแพทริก เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย