posttoday

เสียงไม่แตก นักวิเคราะห์-นักเศรษฐศาสตร์ คาดประชุม กนง. 16 ต.ค. ไม่ลดดอกเบี้ย

15 ตุลาคม 2567

นักวิเคราะห์-นักเศรษฐศาสตร์ คาดประชุม กนง. 16 ต.ค. คงดอกเบี้ย 2.5% ประเมินอาจลดดอกเบี้ยต้นปี 68 และ ธปท. อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 3.0% ขณะที่ภาคธุรกิจกดดันถึงเวลาลดดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจไทย

          การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 ความเห็นจากภาคธนาคาร นักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ คาดว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50 % ตามเดิม ซึ่งนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กนง. อาจมีมติ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม การลดดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า 

          สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า กนง. ยังมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ต่อเนื่อง และอาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในเดือน ธ.ค. 2567 และคาดว่า ธปท. อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 3.0% ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

          ขณะที่ บล.พาย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ข้อมูลจาก Bloomberg Concensus ประเมินว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายระดับเดิม ซึ่งทำการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ จำนวน 21 ท่าน พบว่า มีเพียง 3 ท่าน ที่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% 

          ความเห็นของ บล.พาย คาดว่าการประชุมจะคงดอกเบี้ยระดับเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยการจ้างงานที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการปรับขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐ

          ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยขอให้ ธปท.เร่งพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปี 2567 และลดลงอีก 0.25-0.5% ภายในปี 2568 จะช่วยลดผลกระทบเศรษฐกิจได้เร็วและส่งผลดีต่อ Real Sector

          นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดแล้วและคาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะลดอีก เช่นเดียวกับจีนที่ประกาศลด จึงเชื่อว่า กนง. คงมีข้อมูลพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการประชุม กนง.วันที่ 16 ต.ค.2567 โดยคำนึงความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ

          ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายภูมิภาคอยู่ขาลง แต่ดอกเบี้ยไทยยังไม่ลด ซึ่งหากลดลงจะช่วยลดต้นทุนให้ SME และประชาชน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถือเป็นคุณต่อการส่งออก โดยขณะนี้ค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไทยอยู่อันดับ 2 รองจากมาเลเซีย โดย  3 เดือนที่ผ่านมา มาเลเซียค่าเงินแข็งกว่า12% ส่วนไทยแข็งกว่า 11%

          ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ยังไม่ปรับลดลงเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา ส่วนตัวเข้าใจทั้งรัฐบาลและ ธปท.จะต้องควบคุมสิ่งต่าง ๆ แต่ในฐานะผู้ประกอบการมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีอัตราที่สูงมานานมากแล้ว จึงคิดว่าน่าจะปรับลงบ้าง

          สำหรับการประชุมกนง.วันที่ 16 ต.ค. 2567 เป็นการประชุมครั้งที่ 5 โดยทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา คือ 7 ก.พ. 2567/10 เม.ย. 2567/ 12 มิ.ย. 2567/21 ส.ค. 2567 คงดอกเบี้ยทั้ง 4 ครั้ง โดยกนง.จะมีประชุมทั้งปี 6 ครั้ง ครั้งสุดท้าย 18 ธ.ค.2567

รายชื่อคณะกรรมการ กนง. มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ
นางอลิศรา มหาสันทนะ รองประธานกรรมการ
นางรุ่ง มัลลิกะมาส กรรมการ
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน กรรมการ
นายรพี สุจริตกุล กรรมการ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการ
นายสันติธาร เสถียรไทย กรรมการ

          จำนวนกรรมการทั้งหมด 7 คน มีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท. นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คน เป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้