posttoday

คลังแนะรื้อกฎหมายแชร์ลูกโซ่ ปม ดิไอคอนกรุ๊ป

17 ตุลาคม 2567

สศค.แจงยิบ กรณีสอบ ดิไอคอนกรุ๊ป เมื่อปี 61 ไม่มีใครร้อง ชี้บริษัทจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ.ในปี 62 จึงไม่ใช่อำนาจ สศค. เสนอแก้กฎหมายให้รมว.ยุติธรรมดูแล เหตุเป็นความผิดลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา - DSI ทำงานดีกว่า

          ปฎิเสธไม่ได้ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คือหน่วยงานที่ดูแล พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 (พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ) เนื่องจาก ในช่วงระหว่างปี 2520-2528 มีเคสแชร์น้ำมัน (นางชม้อย์ ทิพย์โส) ขึ้นมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ 

          สศค.จึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราว ร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษา วิเคราะห์การ ดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น 

          ทว่าที่ผ่านมา การทำงานของ DSI มีประสิทธิภาพมากกว่า และบทบาทการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เป็นกฎหมายในลักษณะปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา

          จึงเห็นควรเสนอปรับแก้กฎหมายโดยมีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดิไอคอนกรุ๊ป อยู่ใต้อำนาจ สคบ.

          ทว่าในประเด็น ดิไอคอนกรุ๊ป  ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ได้มีการสอบถามการทำธุรกิจกับ สศค.แล้วนั้น สศค.ชี้แจงว่า 

          หนังสือของ สคบ. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 เพื่อขอให้ สศค. พิจารณาข้อหารือลักษณะการประกอบธุรกิจและได้ส่งแผนธุรกิจและ แผนการตลาด พร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มาให้พิจารณานั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สศค. แต่อย่างใด 

          เนื่องจาก ดิไอคอนกรุ๊ป จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2561 บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจหรือมีผู้เสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และ สศค.เองก็ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใดๆ

          นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงของสคบ. พบว่า บริษัทฯ ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2562 จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ สศค. เพราะหากมีการรับรองจาก สศค. อาจถูก ดิไอคอนกรุ๊ป นำความเห็นนั้นไปใช้โดยไม่ถูกต้องในภายหลัง

สศค. มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟ้องร้องและต่อสู้คดี ศึกษา วิเคราะห์และเสนอความเห็นในการยึดและอายัดทรัพย์สิน


          การทำงานของ สศค.จะดำเนินการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากเอกสารที่ได้รับเท่านั้น ถ้าในข้อร้องเรียนใดพิจารณาแล้วน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ หรือข้อร้องเรียนนั้นอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ และมีผู้เสียหายเกิดขึ้น สศค. จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวน สอบสวน หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีต่อไป

3 องค์ประกอบเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

          สำหรับพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 วรรคแรก แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน
ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

          1. มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งการโฆษณาหรือประกาศจะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น การแจกเอกสาร การเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ หรือเป็นการบอกกล่าวระหว่างกันของบุคคลในลักษณะปากต่อปาก เป็นต้น

          2.มีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมการลงทุนซึ่งการจ่ายผลตอบแทนจะจ่ายเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ โดยผลประโยชน์ตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้

          3. ผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นนำเงินจากผู้เข้าร่วมลงทุนรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อน หรือผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทน พอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้


การพิจารณาว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ นั้น จะต้องมีการสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทน หรือเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิก มิใช่การได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า และมีการชักจูงว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง

          ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและรายละเอียดเป็นรายกรณี ๆ ไป

เสนอ รมว.ยุติธรรม ดูแลพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สศค. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานในการดูแลพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ก็ตาม แต่จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า บทบาทการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ เป็นกฎหมายในลักษณะปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา

          อีกทั้ง การปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิดโดยการแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ สอบสวนดำเนินคดี รวมถึงมีการยึด อายัดทรัพย์สิน ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด 

ปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการใช้บังคับกฎหมายโดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมากกว่า

          ประกอบกับข้อจำกัดของบุคลากร และอัตรากำลังของ สศค.ในการปฏิบัติงานสืบสวน ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดตาม พรก. การกู้ยืมเงินฯ ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอปรับแก้กฎหมายโดยมีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น