posttoday

JKN ดิ่งฟลอร์ หลัง ตลท. ปลด SP ยันฟื้นฟูกิจการ หวังรีเซตองค์กร นำเงินใช้หนี้

29 มีนาคม 2567

JKN ดิ่งฟลอร์ หลัง ตลท. ปลด SP ขึ้น CS แทน เซ่นพิษงบปี 66 พลิกขาดทุนกว่า 2,128 ล้านบาท “แอน-จักรพงษ์” ยันไม่ขายสินทรัพย์ เหตุทุกธุรกิจต้องประสานในอีโคซิสเต็มส์ ย้ำยื่นฟื้นฟูกิจการ หวังรีเซต ปรับโครงสร้างองค์กร สร้างผลกำไร นำเงินชำระคืนเจ้าหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN วันนี้ (29 มี.ค.) ล่าสุด เวลา 14.35 น. ลดลง 29.73% หรือลดลง 0.22 บาท มาอยู่ที่ 0.52 บาท ทำราคาต่ำสุด (Floor) มูลค่าการซื้อขาย 18.09 ล้านบาท

JKN ดิ่งฟลอร์ หลัง ตลท. ปลด SP ยันฟื้นฟูกิจการ หวังรีเซตองค์กร นำเงินใช้หนี้

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปลดเครื่องหมาย SP หุ้น JKN ให้กลับมาซื้อขายได้ตามปกติ หลังจากถูกขึ้นเครื่องหมาย SP มาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2567 เนื่องจากไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2566 ภายในเวลาที่กำหนด และวานนี้ (28 มี.ค.) JKN ได้นำส่งงบการเงินแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว ตลท. จึงคงเครื่องหมาย SP ไว้ถึงเมื่อวานนี้ และในวันนี้ปลดเครื่องหมาย SP ขึ้นเครื่องหมาย CS แทน

โดยผลการดำเนินงานของ JKN ในปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,128.12 ล้านบาท ลดลง 449.77% จากปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 608.43 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการพิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ของบริษัท โดยมีการเปรียบเทียบการด้อยค่าของสินทรัพย์ของบริษัทจากการพิจารณาข้อบ่งชี้ของสินทรัพย์แต่ละประเภทกับมูลค่าจากผู้ประเมินอิสระภายนอกด้วย 

ทั้งนี้ มีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน-ลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของบริษัทและบริษัทย่อย รวมเป็นจำนวน 841.97 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในเครื่องหมายการค้าและค่าความนิยมของบริษัทและบริษัทย่อย รวมเป็นจำนวน 271.52 ล้านบาท และการตั้งสำรองด้อยค่าในสินทรัพย์อื่นรวมเป็นจำนวน 31.48 ล้านบาท รวมทั้ง 3 รายการ เป็นยอดรวมทั้งสิ้น 1,144.97 ล้านบาท 

รวมทั้งการรับรู้ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทและบริษัทย่อย โดยตั้งเป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวมเป็นจำนวน 494.86 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในเงินลงทุนในบริษัทย่อย รวมเป็นจำนวน 619.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการกระทบในงบการเงินเฉพาะแต่ละกิจการ

นอกจากรายการด้อยค่าข้างต้น ยังเป็นผลจากรายได้ในธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในไตรมาส 4/2566 มีจำนวนลดลงอย่างมาก แม้จะมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจการจัดประกวดนางงามจักรวาลที่จัดประกวดในเดือน พ.ย.2566 แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงของธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ได้ เนื่องจากต้นทุนบริการของธุรกิจการขายและให้บริการได้รวมต้นทุนของการจัดการสิทธิ์ของมิสยูนิเวิร์สจากการจัดการประกวด 2 ครั้งในปี 2566 ไว้ (จัดประกวดในเดือน ม.ค.2566 และ พ.ย.2566) 

ดังนั้นส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 ปรับตัวลดลงอยู่ในสถานะขาดทุนสุทธิเป็น -86.46% โดยในปี 2565 มีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 21.85% และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบกับรายได้รวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตรา 99.39% จากอัตรา 18.16% ในปี 2565

สำหรับรายได้รวมปี 2566 อยู่ที่ 2,495.42 ล้านบาท ลดลง 6.52% จากปีก่อน ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,669.56 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทและบริษัทย่อยในแต่ละธุรกิจสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรายได้ประเภทเดียวกันจากปีก่อนในแต่ละธุรกิจของบริษัท และรายได้อื่น ดังนี้ 

(1) รายได้ค่าสิทธิ์จากธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์รายการ ลดลง 13.82% 

(2) รายได้จากการให้บริการจากธุรกิจบริการโฆษณา เพิ่มขึ้น 47.62% 

(3) รายได้จากการขายจากธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ลดลง 41.06% 

(4) รายได้จากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ขององค์กรนางงามจักรวาล เพิ่มขึ้น 3,206.06% จากการที่เป็นปีแรกที่มีการจัดประกวดนางงามจักรวาลภายใต้การดำเนินงานของบริษัท 

และ (5) รายได้อื่น ลดลง 92.45% เนื่องจากในปี 2565 มีการรับรู้กำไรจากการซื้อกิจการในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมจำนวน 441.10 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่มีผลขาดทุนสุทธิดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทงดจ่ายเงินปันผลสําหรับผลการดําเนินงานประจําปี 2566 

คุณแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ JKN โพสต์เฟสบุ๊ค “Anne Jakrajutatip” วานนี้ (28 มี.ค.) ระบุว่า งบการเงินของ JKN ประจำปี 2566 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว …. ซึ่งการจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างถูกต้อง และเป็นมืออาชีพ ทุกบริษัทเหล่านั้นต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “การวัดมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัททั้งเครือ” เกือบใหม่ทั้งหมด (Asset Evaluation) โดยผู้เชี่ยวชาญที่ถูกรับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. เพื่อเริ่มต้นเดินหน้ากิจการใหม่อีกครั้งหนึ่ง และสามารถรับผิดชอบเจ้าหนี้ทุกท่านได้อย่างดีที่สุดค่ะ กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจและให้โอกาสค่ะ

“งบการเงินปี 2566 ได้มีการปรับทั้ง Amortize และ Impairment สินทรัพย์ ซึ่งหลายๆ เรื่องปรับจนให้มันเข้าที่เข้าทาง ยืนยันไม่ขายสินทรัพย์ เนื่องจากทุกธุรกิจต้องประสานไปด้วยกันในอีโคซิสเต็มส์ มีช่องทีวี ก็ต้องมีโฮมช้อปปิ้ง มีโฮมช้อปปิ้งก็ต้องมีสินค้า Personal Care / Drink และ MUO ระดับโลก มี Influencer ขายของ ขายโฆษณา ทุกอย่าง คือ อีโคซิสเต็มส์” คุณแอน-จักรพงษ์ กล่าว 

ดังนั้น บริษัทจึงยื่นขอฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อหยุด รีเซต ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ จากนั้นขอเวลาทำงาน สร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้

โดยปัจจุบันบริษัทมีรายการผิดนัดชำระหนี้ แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้ 7 รุ่นรวม 3,212.15 ล้านบาท หนี้สถาบันการเงิน 4 แห่ง รวม 688.73 ล้านบาท และหนี้หุ้นกู้แปลงสภาพ 1,200 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 5,100 ล้านบาท

กางไทม์ไลน์ขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ

วันที่ 8 พ.ย.2566 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และในวันที่ 9 พ.ย.2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โดยได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค.2567 

อย่างไรก็ตาม ทนายลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องผู้รับผิดชอบเบิกความเกี่ยวกับกับทุกประเด็นตามคำร้องขอฟื้นฟูกิจการป่วยไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้ ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาคำร้องแล้วถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 5-7 มี.ค.2567

ในวันที่ 5 มี.ค.2567 ศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนพยานของผู้ร้องขอ และไต่สวนพยานของผู้คัดค้านแล้ว คดีเสร็จการไต่สวนให้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 23 เม.ย.2567 และยกเลิกนัดวันที่ 6 และ 7 มี.ค.2567

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 เม.ย.2567 หน้าที่ของทีมอธิบายให้ศาลเข้าใจ คือ ทาง JKN มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีช่องทางที่จะฟื้นฟูได้ จากนั้นศาลจะพิจารณามีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 

หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการแต่งตั้งผู้ทำแผนและจัดทำแผน เมื่อจัดทำแผนเสร็จ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ เพื่อลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ 

หากเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการ จากนั้นจะเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณาคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

หากศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ก็เริ่มกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยขั้นตอนตั้งแต่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจนถึงศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เร็วสุดภายในสิ้นปี 2567 หรือช้าสุดกลางเดือน ก.พ.2568 และเริ่มกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ตั้งแต่ปี 2568-2572