posttoday

รถไฟฟ้ามาหา(กำไร)นะเธอ! BEM สตอรี่ครึ่งปีหลังพีค-อนาคตแกร่ง

14 สิงหาคม 2567

โบรกสแกนผลงาน "BEM" ครึ่งปีหลังยอดโดยสารสายสีน้ำเงิน และทางด่วนฯ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มสร้าง New S-Curve ในอนาคต พร้อมสตอรี่ "Double Deck - รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้" รอบทสรุปชัด

     บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 มีปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่และการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามสถานที่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ส่งผลบวกให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งเป็นสายวงกลม มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ BEM มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2567 จำนวน 1,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 102 ล้านบาท คิดเป็น 11%

     โดยรายได้จากธุรกิจหลักมีจำนวน 4,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116 ล้านบาท หรือ 3% ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,114 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจระบบรางหรือรถไฟฟ้า MRT จำนวน 1,603 ล้านบาท ส่วนธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีรายได้จำนวน 306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10%

รถไฟฟ้ามาหา(กำไร)นะเธอ! BEM สตอรี่ครึ่งปีหลังพีค-อนาคตแกร่ง

     สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานแล้วเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 โดยแผนกำหนดแล้วเสร็จสำหรับส่วนตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในการให้บริการเดินรถ ภายใน 3 ปี 6 เดือน

รถไฟฟ้ามาหา(กำไร)นะเธอ! BEM สตอรี่ครึ่งปีหลังพีค-อนาคตแกร่ง

     ทั้งนี้ BEM มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการในส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดแน่นอน และส่วนตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี ซึ่งการได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ จะเป็น New S-Curve ช่วยเสริมให้ธุรกิจของ BEM เติบโตได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมทั้งช่วยหนุนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

"BEMยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ด้วยความพร้อมและความมุ่งมั่นในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน"ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าว

Outlook สดใสระยะสั้น-ยาว

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ทิศทางธุรกิจสดใสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นฝ่ายวิจัยเชื่อว่า BEM จะทำกำไรสูงสุดของปีได้ในงวด 3Q67และมีลุ้นทำสถิติกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดครั้งใหม่ จากข้อมูลในอดีตที่จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินในไตรมาส 3 มักจะสูงกว่าไตรมาส 2 เพราะเป็นช่วงที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเปิดเรียน อีกทั้งมีจำนวนวันหยุดราชการไม่มากจึงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากกว่า โดยจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสีน้ำเงิน เดือน ก.ค.67 เฉลี่ยอยู่ที่ 424,873 เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้น 9%YoY และ BEM มีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 บาท/เที่ยว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.67 ส่งผลให้มีรายได้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันทีประมาณ 4 แสนบาท/วัน 

     ยอดผู้ใช้ทางด่วนอยู่ในระดับทรงตัวเทียบกับปีก่อนที่ 1,111,032 เที่ยว/วัน นอกจากนี้ ในงวด 3Q67 คาดว่า BEM น่าจะยังได้รับเงินปันผลจาก TTW เข้ามาประมาณ 180-200 ล้านบาท หากยังรักษาโมเมนตัมของจำนวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าได้เช่นนี้ เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินงวด 3Q67 น่าจะสร้างกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

     สำหรับภาพระยะยาว มีปัจจัยบวกจากการได้เข้าไปดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทาง จะส่งผลดีทั้งในเชิงความต่อเนื่องของรายได้ที่มีสัญญายาว 30 ปีถึงปี พ.ศ.2601 และ Synergy ที่เกิดขึ้นจากความประหยัดต่อขนาดในการบริหารรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง รวมถึงการส่งต่อผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเส้นทางหลักของ BEM ในปัจจุบัน และโอกาสที่ BEM จะได้รับสัญญาเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่น่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2568 ส่วนธุรกิจทางพิเศษอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ จะขยายอายุสัมปทานการรับรู้ส่วนแบ่งรายได้จากทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน เพื่อแลกกับการลงทุนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ “Double Deck” เพื่อแก้ไขปัญหารถติดบนทางด่วน

    BEM ถือเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงด้านรายได้สูงมากจากสัมปทานทางด่วนเส้นทางหลักที่มียาวถึงปี 2578 และมีโอกาสได้รับการขยายสัมปทานต่อไปถึงปี 2601 หาก BEM มีการลงทุนโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ ขณะที่ธุรกิจระบบรางมีสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยาวถึงปี 2593 และสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มยาวถึงปี 2601

     ขณะที่ราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนข้างหน้า (สิ้นสุด 4 ก.ย.67) มีเกราะป้องกันจากโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) วงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 450 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 2.94 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดย ณ วันที่ 15 ส.ค.67 BEM ได้ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 209.3 ล้านหุ้น ใช้เงินรวม 1,687 ล้านบาท ยังเหลือเงินที่จะซื้อหุ้นคืนได้อีก 2,313 ล้านบาท ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักลงทุน Outperform ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DCF อยู่ที่ 11 บาท

 

     สตอรี่ชวนน่าติดตาม

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิเคราะห์คงประมาณการกำไรปกติปี 2567 ที่ 4 พันล้านบาท (+13.9% YoY) กำไรปกติ 1H67 คิดเป็น 47% ของประมาณการอย่างไรก็ตาม ประเมินผลประกอบการ 2H67 จะเติบโตขึ้น HoH จาก (1) จำนวนผู้ใช้ทางด่วนและ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่จะกลับมาเร่งตัวโดยเฉพาะใน 3Q67 ที่เป็น High Season และ (2) การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจาก 17-43 บาท เป็น 17-45 บาท

     เบื้องต้นคาดแนวโน้มผลประกอบการ 3Q67 ลดลง QoQ จากการจ่ายเงินปันผลของ CKP ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวต่อปีในช่วงไตรมาส 2อย่างไรก็ตาม คาดเติบโต YoY จากแนวโน้มปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่คาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหาอิงการรายงานปริมาณผู้ใช้ของเดือน ก.ค. 2567 ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 แสนเที่ยว/วัน (+3.2% MoM, +8.7% YoY)

     คงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ที่ 11.60 บาท/หุ้น BEM ยังมี Upside Risk สำคัญที่ยังไม่รวมไว้ในประมาณการได้แก่ (1) โครงการทางด่วน Double Deck ปัจจุบันรัฐบาลและเอกชนอยู่ระหว่างการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนเพื่อให้ BEM ลงทุนในโครงการและลดค่าผ่านทาง คาดเห็นความชัดเจนมากขึ้นใน 2H67 เบื้องต้นจะคิดเป็น Upside Risk ที่ระดับ 2 - 2.50 บาท/หุ้น และ (2) รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ คาดการเจรจาระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อหาผู้เดินรถจะเริ่มในช่วง 4Q67