posttoday

TTB โชว์กำไร Q3/67 โต 10.5% แตะ 5,230 ล้าน ดัน 9 เดือนแรก กำไร 15,919 ล้าน พุ่ง 17%

18 ตุลาคม 2567

TTB รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 ที่ 5,230 ล้านบาท โต 10.5% หนุนกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก พุ่ง 17%แตะ 15,919 ล้านบาท บริหารคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี NPL อยู่ในระดับต่ำที่ 2.7% พร้อมออกมาตรการตั้งหลักเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

          นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 5,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหนุนหลักมาจากการบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ และจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรก ปี 2567 ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  

          ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังคงมีความท้าทาย และสร้างแรงกดดันต่อทั้งด้านรายได้และด้านคุณภาพสินทรัพย์ไม่ต่างไปจากช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารจึงยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้สอดคล้องกับด้านรายได้ ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบเพื่อควบคุมต้นทุนความเสี่ยงและบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการเร่งออก “มาตรการตั้งหลัก” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย

          “ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 โดยรวมถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการด้านต้นทุนใน 3 ส่วนหลักได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ” นายปิติ กล่าว 
 
          ด้านต้นทุนทางการเงิน ธนาคารได้ดำเนินการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินในเชิงรุกผ่านหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างสินเชื่อให้มีความเหมาะสม การเติบโตเงินฝากให้สมดุลกับแนวโน้มด้านสินเชื่อ รวมถึงการปรับกลยุทธ์พอร์ตเงินลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวนและให้ได้รับประโยชน์ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดเงิน

          ในส่วนของต้นทุนการดำเนินงาน ธนาคารยังเน้นย้ำการมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย เน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และการยกระดับการให้บริการลูกค้า นอกจากนั้นยังคงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลและเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ ในโมบายแอปพลิเคชัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงสร้างต้นทุนการให้บริการ ส่งผลให้สามารถบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย 

          สำหรับการบริหารต้นทุนความเสี่ยง ธนาคารยังคงเน้นย้ำการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ ด้วยการต่อยอดแนวคิด Ecosystem Play ผนวกกับจุดแข็งจากความชำนาญและความเป็นผู้นำตลาด ในการนำเสนอสินเชื่อให้กับกลุ่มคนมีบ้าน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มพนักงานเงินเดือน ซึ่งธนาคารเข้าใจความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้าเป็นอย่างดี 

          ขณะเดียวกัน ก็ดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้ทันท่วงที โดยธนาคารมีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลายเพื่อให้ตรงกับปัญหาของลูกค้า ประกอบกับการแก้ปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก ทำให้ภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามในเกณฑ์ ธนาคารจึงสามารถควบคุมต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ได้ตามแผนที่วางไว้   

          นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าดูแลลูกค้าตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ โดยมีโครงการรวบหนี้ (Debt Consolidation) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เราดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 31,000 ราย เพิ่มขึ้นจากระดับ 17,000 ราย ณ สิ้นปีที่แล้ว ซึ่งธนาคารสามารถช่วยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวลดภาระดอกเบี้ยได้กว่า 1,900 ล้านบาท

          ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2567 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,225 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,295 ล้านบาท ส่งผลให้ในงวด 9 เดือนแรก ปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงาน52,266 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 22,075 ล้านบาท ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ 

          ด้านการบริหารจัดการหนี้เสีย ธนาคารเน้นจากการบริหารกระบวนการลดหนี้เสียผ่านการขายและการ Write off อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 40,224 ล้านบาท ลดลง 2% YTD หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 149% เป็นไปตามเป้าหมาย

          จากภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเกณฑ์ควบคุม ทำให้ด้านค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 3/2567 มีจำนวน 4,764 ล้านบาท ลดลง 10% จากไตรมาสก่อน รวมงวด 9 เดือนแรก ปี 2567 ดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 15,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะตั้งแต่ต้นปีธนาคารได้ตั้งสำรองฯ Management Overlay เพิ่มเติมจากการตั้งสำรองฯ จากการดำเนินงานปกติ (Normal Provision) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ 

          สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 1,253 พันล้านบาท ชะลอลง 5.7% จากสิ้นปี 2566 (YTD) เป็นไปตามแนวทางการเติบโตสินเชื่ออย่างรอบคอบ โดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้านแลกเงิน (+10% YTD) สินเชื่อรถแลกเงิน (+6% YTD) และสินเชื่อบุคคล (+9% YTD) ทั้งนี้ การลดลงของสินเชื่อรวมมีสาเหตุหลักจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ การชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดรถยนต์ที่ยังคงซบเซาและการบริหารหนี้เสียเชิงรุกผ่านการขายและตัดหนี้สูญ (Write off) ทำให้ยอดหนี้เสียลดลง 2% YTD

          ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,296 พันล้านบาท ลดลง 6.5% YTD เป็นไปตามแผนบริหารสภาพคล่องและเพื่อให้สมดุลกับแนวโน้มการเติบโตสินเชื่อใหม่ที่ยังคงชะลอตัว เงินฝากที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเงินฝากต้นทุนสูง ขณะที่เงินฝากจากลูกค้ารายย่อยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่น เงินฝาก ttb all free ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านการทำธุรกรรมและประกันอุบัติเหตุ 

          ทั้งนี้ แม้เงินฝากลดลงแต่สภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ที่อยู่ที่ 97% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารได้ขยายเงินฝากกว่า 4.3% ตั้งแต่ในไตรมาส 4/2566 เพื่อเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นอย่างดี

          ด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 19.7% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 17.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ในภาพรวมระดับเงินกองทุนยังถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% สำหรับ CAR และ 9.5% สำหรับ Tier 1

          สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2567 ธนาคารยังเน้นย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี ด้วยสถานะทางการเงินในปัจจุบันที่มีความแข็งแกร่งในทุกมิติ จึงเชื่อมั่นว่าธนาคารมีความพร้อมที่จะรับมือกับปัจจัยต่างๆ และสามารถสานต่อพันธกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้