สรุปหุ้นไทยปี67 ร่วง -1.10% มาร์เก็ตแคป 17.4 ล้านล้าน ผ่าเกม 2025 ฟื้น ?
บทสรุปตลาดหุ้นไทยปี 2567 ดัชนีปิดวันทำการสุดท้ายของปี แตะระดับ 1,400.21 จุด ลดลง -1.25 จุด คิดเป็น -0.09% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31,885.91 ล้านบาท ระหว่างวันดัชนีปรับขึ้นสูงสุด 1,409.13 จุด และลดลงต่ำสุด 1,398.39 จุด วัน แรงซื้อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ DELTA, CCET กลุ่มพลังงาน PTT, GULF, BCP หนุน ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยว ERW, CENTEL, MINT กดดัน
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันทำการสุดท้ายของปี (YTD) ระหว่างวันที่ 2 มกราคม - 30 ธันวาคม 2567 ดัชนีปรับตัวลดลง -1.10% หรือลดลง -15.64 จุด ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จากปี 2566 ปิดที่ 1,415.85 จุด โดยดัชนีปิดสูงสุดในวันที่ 17 ต.ค.67 แตะระดับ 1,495.02 จุด และลดลงต่ำสุด 1,274.01 จุดในวันที่ 6 ส.ค.67
ขณะที่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ปี 2567 แตะระดับ 17,433,753.45 ล้านบาท และ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 45,079.67 ล้านบาท โดยซื้อขายสูงสุด 107,436.04 ล้านบาทในวันที่ 6 ก.ย.67 และลดลงต่ำสุด 24,098.70 ล้านบาทในวันที่ 26 ธ.ค.67
ปี "งูใหญ่" สู่ "งูเล็ก"พ่นไฟ 2025
"จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์" หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า ในปี 2568 ภาครัฐเดินหน้าต่อผสานกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อน GDP ส่วนการบริโภคยังขยายตัวดี รวมถึงการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นต่อเนื่อง ส่วนสัญญาณการส่งออกอาจจะต้องเกาะติดนโยบายการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายจากสกรัฐฯหลังจากที่โดนัล ทรัมป์ ขึ้นรับตําแหน่งประธานาธิบดี
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดจะเริ่มฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น ประเมิน GDP ไทย ปีหน้าที่ระดับ +3.2% และคาดการณ์กําไรของบริษัทจดทะเบียนปีหน้าเติบโตราว +10%y-y จึงได้เป้าหมาย SET ปี 2568 ที่ระดับ 1,600 จุด ส่วนปัจจัยที่ต้องระวัง คือ การดําเนินนโยบายต่างๆของทรัมป์, การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ FED ที่อาจน้อยกว่าคาด และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่อาจล่าช้า
โดยมองว่าในปี 2568 หุ้น domestic play จะเป็นกลุ่มที่พอจะฝากผีฝากไข้สําหรับนักลงทุนได้ เพราะว่าเมื่อดูจากประเด็นบวกและลบที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ จะเห็นได้ชัดว่าในต่างประเทศประเด็นเชิงลบ มันกําลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกําแพงภาษี การขัดแย้งในหลายพื้นที่ ซึ่งการผ่อนคลายด้านภาษีของทรัมป์ จาก 21% เป็น 15% ในระยะสั้นจะทําให้ต้นทุนบริษัทลดลง แปลว่ากําไรจะเร่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งทําให้ Valuation ของหุ้นที่ยิ่งแพงขึ้นไปอีก ปัจจุบัน S&P500 มีค่า P/E25E สูงถึง 22 เท่า แล้ว ขณะที่ SET อยู่ที่เพียง 14.8 เท่า
"ประเทศไทย" ประเด็นที่เคยลบกําลังจะลดลงเรื่อยๆเห็นได้จากความจริงจังในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งฝั่ง ธปท. และ รัฐบาล ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินที่เข้มงวดก่อนหน้าทำให้ระดับ NPL ทรงตัวเช่นเดียวกับหนี้ Stage 2 เริ่มลดลงเรื่อยๆทำให้ความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสียลดลง และล่าสึดตัวเลข GDP ไตรมาส 3/67 สูงว่าคาดเป็น 3% ไส้ในเหลือเพียงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังติดลบเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าจะมาช้าสุด ดังนั้นการเข้ารูปเข้ารอบการเมืองไทย มาตรการต่างๆที่จะทยอยออกมาเรื่อยๆเชื่อว่าเมื่อเอกชนมั่นใจ เครื่องมือทางเศรษฐกิจทั้งหมดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและหุ้น Domestic
โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ "กลุ่มฟื้น" คือ กลุ่มที่ปัญหาในอุตาสาหกรรมเริ่มคลี่คลายในเชิงบวก เช่น ธนาคาร, อสังหาฯ, ทวง หนี้ , ไฟแนนซ์ ซึ่งมองว่าเด่นชัดสุดจะเป็น "ไฟแนนซ์" จากปัญหาหนี้เสียที่เริ่มคุมได้ ขณะที่การลดดอกเบี้ยของ กนง.ล่าสุด ทําให้กลุ่มจะมี cost of fund ที่ต่ำลงอีกด้วย ซึ่งกําลังซื้อที่กําลังฟื้นกลับมา เชื่อว่าเราจะเริ่มเห็น loan growth อีกครั้งในปี 2568 ยิ่งไปกว่านั้น valuation ที่มีส่วนลดจากภาวะปกติกว่า 50% เชื่อว่าส่วนลดเหล่านี้จะทยอยลดลง ตามมาด้วยการ upgrade ของนักวิเคราะห์ในตลาด ซึ่งด้วย valuation ที่น่าสนใจ โมเมนตัมฟื้นที่ดูเร้าใจ ชอบ SAWAD
ต่อมาคือ "กลุ่มกลับตัว" คือ กลุ่มที่เคยแย่ระดับติดลบ แต่จะพลิกมาเป็นบวก ดัวดัชนีที่ใช้ดูมี 2 อย่างง่ายๆของกลุ่มบริโภค คือ SSSG (ยอดขายต่อสาขาเดิม) และการขยายสาขา ที่ปี 2567 พังมาก คือ กลุ่มค้าปลีก, วัสดุก่อสร้าง, ซ่อมแซม และร้านอาหาร เห็นได้จาก SSSG ที่ติดลบ 2 หลัก และหยุดขยายสาขา ซึ่งในไตรมาส 3/67 ติดลบเริ่มลดลงเรื่อยๆอย่างกลุ่มซ่อมแซมบ้าน จากติดลบ 9-12% เมื่อปลายปี 2566 ตอนนี้เหลือติดลบ 4-6% แล้วในปี 2568 เป็นบวกได้ไม่ยากจากฐานที่ต่ำ ซึ่งกลุ่มอาหารไม่ต่างกัน ชอบ AU ด้วย SSSG เพิ่มขึ้น 4.5% ฟื้นเร็วากว่าเพื่อน ด้านกำไรคาดทำสถิติใหม่ แม้ขยายสาขาไม่เด่นมาก แต่ธุรกิจการขายเบเกอรี่ที่ได้เข้าไปใน 7-Eleven ครั้งแรกในเดือน ก.ค.กำลังสร้าง new S-curve ใหม่ให้บริษัทและที่สำคัญราคาหุ้นอยู่ต่ำกว่า hight เดิม 35% ขณะที่กำไรกำลังทำ all time hight
สุดท้ายคือ "กลุ่มลงมือ" ในปี 2568 ข่าวต่างๆที่เกิดขึ้นในปี 2567 เริ่มเห็นการลงทุนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน Data center , โรงงานรถไฟฟ้า EV และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพื่อหนีความขัดแย้งในต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่อยากให้มองคือการมาเยือนของ CEO บริษัท Nvidia เดือนธ.ค.67น่าสนใจมากเพราะเจ้าพ่อชิพ ai ซึ่งเป็นธุรกิจ fabless (ไม่ได้ประกบชิ้นงานเองมีแต่งาน R&D) บอกว่าเมืองไทยจะเป็นฮับในอุตสาหกรรม ai ในอนาคต แปลว่าโอกาสที่จะพาผู้เล่นใน Supply chain มาด้วย เช่น TSMC Samsung มีความเป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นอุปสงค์ในที่ดินนิคมฯเชื่อว่ามีอีกมาก ชอบ WHA เชื่อว่าการกลับไปเล่นที่ P/BV 3-4 เท่า ยังเป็นไปได้ในภาวะตลาดดีๆปีหน้า รวมถึง INSET ยังมีโอกาสในงานก่อสร้าง Data center ในอนาคตอีกจำนวนมาก
"หุ้นไทยอาจยังไม่ได้เป็นที่หมายปองของต่างชาติมากนักเนื่องจากนโยบายของทรัมป์ที่หนุนเศรษฐกิจสหรัฐเชื่อว่าทําให้ตลาดหุ้นเค้ายังดีต่อ แม้ valuation จะ ตึงๆก็ตาม แต่เชื่อว่าหากเราเลือกหุ้นที่ถูก ธีมที่ใช่ พอร์ตเราก็โตได้เช่นกัน เพื่อนๆรู้ไหมว่า ณ 22 พ.ย.67 หุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 50% ในบ้านเรามีถึง 28 ตัว แต่ละตัวมาแบบดุดันทั้งนั้น CCET +320%, TRUE +128%, DELTA +66%, PR9 +60%, BA +56% และ MONO +53% เป็นต้น ดังนั้นอ่านธีมให้ขาด เลือกให้แม่นยํา ให้เวลามันทํางานอีกนิด เชื่อว่าจะไม่ใช่เป็นปีที่ยาก"
ระวัง! EPS ลด - ขาย LTF กดหุ้นต้นปี 68
สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส ระบุว่า ข้อมูลจาก BLOOMBERG ประเมิน EPS ปี 2568 ที่ 98.5 บาทต่อหุ้น (จากปี 2567 EPS ที่ 87.4 บาทต่อหุ้น) เทียบเท่ากำไร 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อไตรมาสอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสูงกว่ากำไรระดับปกติต่อไตรมาสที่ 2.5 แสนล้านบาททำให้ช่วงต้นปี 2568 น่าจะเห็นการทยอยปรับประมาณการกำไรลง
ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯทำการรวบรวมข้อมูลว่า ช่วงต้นปีนักวิเคราะห์สำนักต่างๆปรับประมาณกันอย่างไร? พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์สำนักต่างๆ ปรับประมาณการกำไรตลาดลงถึง 8 ใน 10 ปี และเฉลี่ยปรับ EPS ลงในเดือนแรกของปี -1.7 บาท/หุ้น และปรับลงในไตรมาสแรกของปีที่ -5.6 บาทต่อหุ้น อาจกดดัน SET INDEX ราว 30-90 จุดได้ อิง P/E 16.5 เท่า
นอกจากนี้ แม้ยอด LTF สะสมเคยมีมูลค่าสูงสุดราว 4.06 แสนล้านบาท ในปี 2562 แต่ทยอยลดลงเหลือ 2.3 แสนล้านบาท ณ สิ้น พ.ย.67 หากพิจารณาเฉพาะยอดเงินที่สามารถขายคืนได้ทั้งหมด พบว่า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 66 อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท, ปี 67 เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาท และล่าสุดปี 68 สูงสุด 2.3 แสนล้านบาท
หากประเมินแรงขายปกติ LTF ปกติจะขายออกมาในเดือน ม.ค. เฉลี่ยราว 10,000 ล้านบาท โดยใน ม.ค.67 มีแรงขาย 16,000 ล้านบาท ส่วน ม.ค.68 มีโอกาสเผชิญแรงเพิ่มขึ้น เพราะมูลค่า LTF พร้อมขายใหม่เพิ่มขึ้นมา 70,000 ล้านบาท คิดเป็น 43% จากปีก่อน คิดเป็นแรงขายได้ราว 23,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากเม็ดเงินก่อนใหม่ที่พร้อมขาย มีต้นทุนที่สูงเทียบเท่า SET INDEX เฉลี่ยที่ 1,608 จุด ทำให้ประเมินว่าแรงขายจากกองทุน LTF ในเดือน ม.ค.68 อาจแผ่วเบาลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 15,000-20,000 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนแรงหนุนเม็ดเงินใหม่จากสถาบันฯมีน้อย คือ ไม่มีแรงหนุนจากกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท เหมือนกับปีที่ผ่านมา , ความคาดหวังเม็ดเงินจาก THAIESG หนุนตลาดได้น้อยลง สะท้อนจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ากองทุน THAIESG ราว 3 พันล้านบาทต่อเดือน แต่เอนเอียงไปลงทุนประภทตราสารหนี้ 1.5 – 2 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนกองทุนประเภทหุ้นไทยไหลเข้าน้อยกว่าราวๆ 1 – 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.2 –1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
"สรุปปี 2568 มีเม็ดเงิน LTF ที่พร้อมขายสูงขึ้นเป็น 2.3 แสนล้านบาท คาดจะเห็นแรงขายออกมา 1.5 - 2 หมื่นล้านบาทในเดือน ม.ค. 68 ส่วนแรงซื้อกองทุน THAIESG อาจจะชดเชยได้ไม่มากพอ กดดัน SET ในช่วงเดือน ม.ค.68"
มกราคม January Effect
บล.ฟิลลิป ระบุว่า SET Index ปิดสิ้นปี 2024 ที่ 1400.21 จุด ผลตอบแทน YTD -1.09% ติดลบเป็นปีที่สองติดต่อกันในรอบ 20 ปี มีจำนวนหุ้นที่ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งสิ้น 26% (175 ตัว) และหุ้นผลตอบแทนเป็นลบ 73% (491 ตัว) สะท้อนแนวโน้มขาลงอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลตอบแทนดีที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA, CCET) กลุ่มสื่อสาร (ADVANC, TRUE) และกลุ่มสื่อ (VGI, MCOT, MONO) ส่วนผลตอบแทนแย่ที่สุด 3 อันดับ คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (SCGP) กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC, EPG) และกลุ่มยานยนต์ (SAT, AH)
ภาพรวมดัชนีหุ้นไทยปิดปี 2024 ไม่ค่อยสวย แนวโน้มยังลงต่อได้ แต่อย่างไรก็ดีจากสถิติย้อนหลังเดือน ม.ค. ผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกมักจะเป็นบวกจาก January Effect ประเมินแนวรับ อยู่ที่ 1360, 1380 จุด ส่วนแนวต้าน อยู่ที่ 1430, 1450 จุด ระยะสั้นยังแนะนำให้ Wait and See ไปก่อนแล้วค่อยรอสะสมที่แนวรับ