
ทายาทรุ่น 3 “NAM” เครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เฉิดฉายสู่ระดับโลก
บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM ดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนา ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร
ปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 แล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเจเนอเรชั่นที่ 3 ที่มีทายาทธุรกิจอย่าง “วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และยังมีน้องๆ อีก 2 คน คือ “วิศิษฐ์ ชัยเทอดเกียรติ” และ “นันทิรา ชัยเทอดเกียรติ” เข้ามาดูแลกิจการครอบครัว
จากช่างไม้สู่ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ “นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น” ไม่ได้เติบโตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทุกอย่างเริ่มจากคุณปู่ของวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ซึ่งเป็นช่างไม้ และช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร เมื่อเวลาผ่านไปกิจการขยายสู่การซ่อมบำรุงเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า
จากนั้นมาถึงยุคคุณพ่อที่เป็นรุ่นที่ 2 เริ่มขยายเข้าสู่การซ่อมบํารุงเครื่องมือแพทย์ ก่อตั้งกิจการในนามร้าน “หนำซุย” ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องนึ่งไอน้ำ (ด้วยแก๊ส) เป็นผู้ผลิตรายแรก และผลิตภัณฑ์เครื่องแรกของประเทศที่ถูกผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทย จัดจำหน่ายให้แก่ โรงพยาบาลศิริราช เป็นลูกค้ารายแรก ต่อมาได้จัดตั้ง หจก.นำวิวัฒน์การช่าง (1992) ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
จุดเปลี่ยนเส้นทางชีวิต
จนกระทั่งในปี 2546 “วิโรจน์ ชัยเทิดเกียรติ” ในฐานะลูกชายคนโต ได้เดินทางกลับมาจากออสเตรเลียด้วยความจำเป็น เนื่องจากคุณพ่อป่วยหนัก ทั้งๆ ที่เขาเคยคิดวางรากฐานชีวิตไว้ต่างแดน ทั้งเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ทำงาน และสร้างครอบครัว แต่การกลับบ้านครั้งนี้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเขาไปตลอดกาล
ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย เพื่อสานต่อกิจการของที่บ้าน “วิโรจน์” เล่าให้ฟังว่า หลังจากจบมัธยมตอนปลายแล้วก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเลย ไปเรียนจบปริญญาตรีด้าน Commerce และปริญญาโท Information System จาก University of Tasmania ประเทศออสเตรเลีย และทำงาน มีครอบครัว ตั้งใจที่จะตั้งรกรากที่ต่างประเทศ ตอนนั้นเรียนปริญญาเอกด้วย ตั้งใจจะเป็นนักวิชาการเลย อยู่ที่นั่นเกือบ 10 ปี
แต่ตอนนั้นคุณพ่อไม่สบาย ต้องผ่าตัดใหญ่ ในฐานะลูกชายคนโตก็เลยกลับเข้ามาช่วยกิจการครอบครัว จริงๆ ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความคิดจะเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัวเลย เพราะเป็นธุรกิจครอบครัวที่เป็นคนจีน และเป็นการทํางานแบบเก่าๆ
30 บาท รักษาทุกโรค จุดประกายโอกาสเติบโต
เมื่อ “วิโรจน์” เข้ามาสานต่อกิจการ เป็นช่วงเดียวกับที่มีหลายๆ นโยบายเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค นโยบายหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเขามองว่ามันคืออนาคตของประเทศ เป็นนโยบายที่ต้องการให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสุขภาพที่ดี และการรักษาทุกที่ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็เปลี่ยน Mindset ทำให้กลับมาดูธุรกิจของครอบครัว พบว่ามีของดีในมือที่ผลิตเองในประเทศด้วย นี่คือโอกาสของบริษัท
เขายังพบว่าในช่วงที่กลับมาสานต่อกิจการ บริษัทมีรายได้เพียง 3 ล้านบาท ทำงานในตึกแถว 1-2 ห้อง มีพนักงานไม่กี่คน จึงได้ต่อยอดจากประสบการณ์และแนวคิดของคุณพ่อ ด้วยการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ จากเดิมที่คุณพ่อผลิตแล้วส่งให้ตัวแทนจําหน่ายขาย มาเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิต ควบคุมเรื่องการขาย เน้นเรื่องการสร้างมาตรฐาน และการออกแบบ เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ไทย
เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย
โดยในช่วง 3 ปีแรกที่เข้ามาสานต่อกิจการ เป็นช่วงที่ทำงานหนักมาก เพื่อต้องการให้เครื่องมือแพทย์ไทยได้มาตรฐานระดับสากล สามารถแข่งขันกับเครื่องมือแพทย์ต่างประเทศ และเทียบชั้นระดับโลกได้
ภารกิจแรกที่ทำคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวแรก ที่เรียกว่า “A8” ด้วยเงินลงทุน 400,000 บาท นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนดีไซน์ แต่เป็นการปฏิวัติแนวคิดของธุรกิจ
“ผมขอเงินคุณพ่อไปออกแบบเครื่องมือแพทย์ตัวแรก หลายคนยังสงสัยว่าจะลงทุนกับเรื่องการออกแบบทำไม แต่ผมเชื่อว่าภาพลักษณ์และมาตรฐานเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ วันนั้นเราเลือกทางที่ยาก แต่เป็นทางที่ใช่ หากไม่มีมาตรฐาน เราจะสู้กับสินค้านำเข้าไม่ได้เลย”
“วิโรจน์” กล่าวย้ำว่า ช่วง 3 ปีนั้นเป็นช่วงที่เน้นการปูพื้นขององค์กร ไม่ได้มองเรื่องของการขายโดยตรง ดังนั้นการวางกลยุทธ์หาช่องทางการจําหน่าย จึงไม่ใช่ priority หลัก เพราะ priority หลักคือเรื่องมาตรฐาน เพราะสมัยนั้นยังมีความเชื่อว่าเครื่องมือแพทย์ต้องมาจากต่างประเทศ พอพูดถึงเครื่องมือแพทย์ไทย ทุกคนจะมองหามาตรฐานคุณภาพอยู่ไหน มีอะไรเป็นเครื่องการันตีได้ว่าผลิตแล้วจะปลอดภัย ด้วยโจทย์นี้จึงเป็นที่มาของเรื่องการออกแบบ และมาตรฐาน
โดยมองว่าบริษัทมาถูกทาง และเป็นแนวทางที่ทํามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งบริษัทมีครบเกือบทุกมาตรฐานระดับโลก ทั้งอเมริกาและยุโรป เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของความปลอดภัยของผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อม
ในช่วง 23 ปีแรกของบริษัท เป็นเรื่องของการเปลี่ยนพื้นฐานของธุรกิจที่เน้นสร้างความยั่งยืนในแง่ของมาตรฐานของการผลิตเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการออกแบบเพื่อต่อยอดในเรื่องการขายต่อไป หลังจากนั้นจะเน้นเรื่องการเติบโตจนมีพนักงานกว่า 500 คน และมีผลิตภัณฑ์กว่า 320 SKU ถือเป็น total solution ตามแนวทางที่วางไว้ โดยสัดส่วนเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศสูงถึง 80-90% และสัดส่วนเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่าย อยู่ที่ประมาณ 10-20%
“เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เราเริ่มต้นด้วยเครื่องเดียว วันนี้เรามีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั้งระบบ และเราไม่ได้หยุดแค่นี้ เราต้องการก้าวขึ้นเป็นบริษัทเครื่องมือแพทย์ระดับโลก ที่สร้างโดยคนไทย เพื่อคนทั่วโลก”
แนวคิดบริหารงาน “เป้าหมายชัดเจน-ทีมเวิร์ค”
แนวคิดในการดําเนินการทางธุรกิจ หลักสําคัญ คือ เป้าหมายต้องชัด เพราะถ้าเป้าหมายไม่ชัดจะทําอะไรยากมาก ดังนั้นต้องวางเป้าหมายและมีโรดแมป หลังจากนั้นเป็นเรื่องของหลักทางวิชาการ การบริหารคน บริหารต้นทุน การจัดโครงสร้างองค์กร
เป้าหมายที่วางไว้ คือ ต้องการสร้างเครื่องมือแพทย์ไทยให้เติบโตในระดับโลก จะทํายังไงให้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทยออกไปเติบโตในต่างประเทศ เอาธงไทย เอาแบรนด์ไทย ไปปักไว้ในต่างประเทศ ให้เห็นว่ามันมีเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยคนไทย และเป็นที่น่าภูมิใจ
ส่วนสําคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การสร้างความเป็นทีมเวิร์ค มีบุคลากรที่เข้ามาช่วยเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนกลยุทธ์ และแผนให้ป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
3 กลุ่มธุรกิจ กับ 4 บริษัทย่อย
ด้วยความที่ไม่หยุดนิ่ง “วิโรจน์” นำพาบริษัท จนปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
1.อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อ
2.งานบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์
3.เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับห้องผ่าตัด
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อยอีก 4 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัท นำเมดิคอล โซลูชั่นส์ จำกัด ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ โดย NAM ถือหุ้น 99.99%
2. Reintech Sdn. Bhd ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ในมาเลเซีย โดย NAM ถือหุ้น 60% และ Reintech Sdn. Bhd. ถือหุ้น 40%
3.บริษัท เซอร์วิโซ เฮลท์แคร์ โซลูชั่น จำกัด ธุรกิจให้บริการงานสนับสนุนทางการแพทย์ได้แก่ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์, การบำบัดมูลฝอยติดเชื้อทางการแพทย์ และการบริหารจัดการงานด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย NAM ถือหุ้น 60% และบริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด (VMH) ถือหุ้น 40%
4.บริษัท อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นสูง โดย NAM ถือหุ้น 60% และ อินโนเวทีฟ อิมเมจจิ้ง ซิสเต็มส์ ถือหุ้น 40%
ต่อยอดธุรกิจอัพเวลสู่เครื่องมือแพทย์ไฮเทค
นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดธุรกิจ โดยต้องการอัพเลเวลของการผลิตเครื่องมือแพทย์ไปสู่เครื่องมือแพทย์ที่มีความไฮเทค หรือเครื่องมือแพทย์ระดับสูง เครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยในระดับที่สูงกว่าเดิม
ความท้าทายที่มาพร้อมโอกาส
ส่วนความท้าทายในการเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว “วิโรจน์” เล่าว่า ความท้าทายคือ จะผลิตเครื่องมือแพทย์ให้ตอบโจทย์ 2 ส่วน ได้แก่ ความปลอดภัยที่มีมาตรสูงขึ้น และการพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพราะเราอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัย
มองเป็นความท้าทายที่เป็นโอกาสจึงทุ่มงบประมาณ 5% ของรายได้ทั้งหมด ไปกับงานวิจัยและพัฒนา และมีแนวโน้มผลักดันให้สูงมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้าง academy ศูนย์เรียนรู้ เพื่อทําให้บุคลากรมีความเป็น expert มากขึ้น และอีกสิ่งที่ให้ความสําคัญ คือ การเดินไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์
วางเป้ารายได้ปี 68 ทำนิวไฮ แตะ 1,700 ล้านบาท
ด้านเป้าหมายการเติบโตในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท ทำนิวไฮต่อเนื่องจากปี 2567 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,146.68 ล้านบาท ผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจ 1. อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อทำให้ปราศจากเชื้อ คิดเป็นสัดส่วน 50%
2. งานบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ คิดเป็นสัดส่วน 10% และ 3. เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับห้องผ่าตัด รวมกับอีก 4 บริษัทย่อย คิดเป็นสัดส่วน 40%
แต่หากคิดจากเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเอง และการนําเข้าเครื่องมือแพทย์มาจำหน่าย บริษัทจะเป็นรายได้จากเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตเอง สัดส่วน 60-70% และรายได้จากการนําเข้าเครื่องมือแพทย์มาจำหน่าย สัดส่วน 30-40%
“1 ปีที่ผ่านมา หลังจากเข้าตลาดฯ ก็เป็น 1 ปีที่เราวางกลยุทธ์ตามที่ได้สัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนไอพีโอ ในเรื่องของการไปต่างประเทศ การวางรากฐานกลุ่มธุรกิจ เพื่อที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา ก็คงเห็นได้เป็นที่ประจักษ์ว่าเราได้ตั้งบริษัทลูกทั้งหมด 4 บริษัท”
จากธุรกิจครอบครัวสู่ผู้นำระดับภูมิภาค
การเติบโตของ “NAM” ไม่ได้หยุดแค่ในประเทศไทย “วิโรจน์” มองเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสปป.ลาว ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พยายามวางกลยุทธ์เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการสร้าง Medical Logistics & Distribution Hub เพื่อกระจายสินค้าทั่วภูมิภาค
“เราไม่ได้มองแค่การผลิตเครื่องมือแพทย์ แต่เรากำลังสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสอีกมาก และเราต้องเป็นหนึ่งในผู้นำที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม”
จากปัจจุบันที่ธุรกิจมีสัดส่วนรายได้จากประเทศไทยกว่า 90% ขณะที่สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ อยู่ที่ 3% ของรายได้รวม ปัจจุบันแผนการขยายตลาด ทำให้สัดส่วนนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยตั้งเป้าหมาย 70% ของรายได้รวมในอนาคต จะมาจากต่างประเทศ และอีก 30% เป็นรายได้ที่มาจากประเทศไทย ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับโลก
“สิ่งที่เรากำลังสร้าง ไม่ใช่แค่บริษัท แต่มันคือโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย เราต้องการให้โลกเห็นว่า ไทยสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล และแข่งขันได้”