posttoday

"ภาษีทรัมป์" เขย่าเศรษฐกิจ โอกาส หรือ ความเสี่ยงสงครามการค้า ?

14 เมษายน 2568

"ทรัมป์" ประกาศภาษีตอบโต้ไทย 36% เขย่าภาคส่งออก – เศรษฐกิจไทยปี 2025 เสี่ยงโตต่ำ 1% ตลาดหุ้นรับแรงกดดันหนัก แนะจับตาสัญญาณเจรจาคลี่คลายสงครามการค้า

KEY

POINTS

  • "ทรัมป์" ประกาศภาษีตอบโต้ไทย 36% เขย่าภาคส่งออก – เศรษฐกิจไทยปี 2025 เสี่ยงโตต่ำ 1%
  • ตลาดหุ้นรับแรงกดดันหนัก แนะจับตาสัญญาณเจรจาคลี่คลายสงครามการค้า

จากการที่ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยสูงถึง 36% ในทุกๆรายการ เบื้องต้น ทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการส่งออกไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 18.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด (ข้อมูลปี 2024)

หากเราประเมินผลกระทบในเชิงตัวเลข คาดว่าอาจจะส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2025 หดตัวต่ำกว่า 1% และอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP growth ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดย GDP ไทยปี 2025 อาจชะลอตัวลงแรงและลงไปแตะอยู่ที่ราว 1% หรือต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สงครามการค้ายืดเยื้อ 

การที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสูงกับ 50 ประเทศคู่ค้า สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบีบการเจรจาทางการค้ากับคู่ค้าต่างๆ ให้จบเร็วขึ้น และสำหรับไทยเอง ภาครัฐคงต้องเร่งเจรจาทางการค้าเร็วขึ้น โดยผลลัพธ์ของการเจรจา อาจจะเห็นภาพของการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ไทยอาจจะจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรหลายรายการที่ไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง และอาจจะมีมาตรการกัดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) กับสหรัฐฯ ในอดีต อาทิ เนื้อหมู นอกเหนือจากถั่วเหลือง และข้าวโพดที่เราเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

และอาจต้องเจรจานำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานหรือสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบิน อาวุธ ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น นำมาซึ่งความท้าทายของรัฐบาลไทยที่จะต้องเจรจาทางการค้าหนักขึ้น ควบคู่ไปกับการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อลดทอนผลกระทบเชิงลบดังกล่าว

มุมมองการลงทุนในช่วงเดือน เม.ย. เป็นต้นไป เบื้องต้นมองว่า มาตรการภาษีที่ออกมามุ่งเป้าไปที่สินค้าหลายกลุ่มจากหลายประเทศในอัตราที่สูง คาดกดดัน sentiment ตลาดหุ้นไทยรุนแรงจากความกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อม

ในแง่ผลกระทบทางตรง สัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯ ของ SET อยู่ที่ราว 1.4% เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯ อยู่ที่ 25%) อาหาร (12%) และ ยานยนต์ (1%)

บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐฯสูง เช่น ITC (ราว 50%), TU (ราว 39%), DELTA (ราว 25%), HANA (ราว 25%), KCE (ราว 23%), CPF (ราว 10%, ส่งออกราว 0.5% ที่เหลือผลิตในสหรัฐฯ*), SAT (ราว 5%)

การปรับขึ้นภาษีในวงกว้าง คาดเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอเร็วและลึกกว่าคาด จากทั้งการค้าโลก เม็ดเงินลงทุน FDI และการบริโภคโดยรวมที่คาดชะลอตัวลงจากต้นทุนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จาก Base Case ของเราที่ให้น้ำหนักความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจนเข้าสู่ Mild Recession (GDP ติดลบ -0.5% กินระยะเวลาราว 2 ไตรมาส) อาจรุนแรงขึ้น หรือ เข้าสู่ระดับ Mid-Depth Recession (ที่อาจเห็น GDP ติดลบรุนแรงกว่า -2% และอาจกินระยะเวลาราว 3-4 ไตรมาสได้) เป็นความเสี่ยงต่อกลุ่ม Cyclical/Global Play

สำหรับไทย GDP ปี 2025 อาจเติบโตลดลงจากเดิมคาด 2.4% เหลือเพียง 1% ซึ่งจะเป็น Downside ต่อ EPS ของ SET ราว 6-7% โดยอิงจากข้อมูลในอดีต การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลง 1% อาจส่งผลให้การประมาณการกำไรของ SET ลดลงถึง 4.4% ทำให้เรามอง EPS ของ SET อาจมี downside อยู่ที่ราว 88 

ประเมิน downside ตลาดหุ้นไทย... ลึกได้ถึงไหน ?

หากอิงจาก PER ต่ำสุดช่วง Trade War รอบแรก และ COVID จะได้ PER ที่ 12.3x (-1.75SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปี) ทำให้ประเมิน downside ของ SET ราว 1080 ค่าเงินบาทคาดอ่อนค่าจากผลกระทบของการส่งออกที่คาดชะลอตัว และกระแส Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค

ในแง่กลยุทธ์ระยะสั้น ยังเน้นเพิ่มน้ำหนักกลุ่ม Defensive เช่น โรงพยาบาล สื่อสาร และ Domestic เช่น ค้าปลีกของใช้จำเป็น (Consumer staples) ที่มีรายได้พึ่งพาในประเทศสูง ในขณะที่ ลดน้ำหนักกลุ่ม Exporter ไปสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, ลดน้ำหนักหุ้น Cyclical/Global Play ที่อ่อนไหวต่อการชะลอตัวของการค้าโลก

อะไรคือสัญญาณจบรอบขาลง (Turning Point) ที่สำคัญ ? 

มองถือเงินสดบางส่วนเพื่อรอเข้าซื้อในช่วง Turning Point สำคัญ คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา” ซึ่งคาดจะเป็นจุด Peak ของ Escalation Phase คาดจะใช้เวลาราว 3 เดือนจากนี้ เป็นจุดกลับตัวของ Fund Flow เข้ามาหนุนตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงไทย

และเป็นจุด Bottom ของตลาดหุ้นทั่วโลกหลังสงครามการค้าคลี่คลาย จึงเป็นสัญญาณในการเพิ่ม Beta พอร์ต ทยอยเข้าสะสมหุ้นที่ราคาย่อตัวแรงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัฏจักร หรือ Global Play เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์จากคาดเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุด และเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีนำเข้าสินค้าใหม่ของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย

\"ภาษีทรัมป์\" เขย่าเศรษฐกิจ โอกาส หรือ ความเสี่ยงสงครามการค้า ?