
นิว “BCP” ใต้ร่ม “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ดฯ” ทรานฟอร์มสู่พลังงานยุคใหม่
ตามที่ได้เห็น บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด มีการแจ้งแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเข้าซื้อหุ้น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผ่านกระดานซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) จาก Capital Asia Investments Pte. Ltd. อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยจำนวน 3 ครั้ง
โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2568 ซื้อหุ้น Big Lot จำนวน 62,907,915 หุ้น คิดเป็น 4.5687% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้ถือหุ้นจำนวน 98,348,915 หุ้น คิดเป็น 7.1426% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2568 ซื้อหุ้น Big Lot จำนวน 84,454,585 หุ้น คิดเป็น 6.1335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้ถือหุ้นจำนวน 161,057,515 หุ้น คิดเป็น 11.6969% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ล่าสุด ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2568 ซื้อหุ้น Big Lot จำนวน 43,381,200 หุ้น คิดเป็น 3.1505% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้ถือหุ้นจำนวน 275,500,000 หุ้น คิดเป็น 20.0083% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
การเข้าซื้อหุ้น Big Lot ดังกล่าว ทำให้ บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด กระโดดขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ BCP ทันที จากข้อมูลปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ BCP เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2568 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นอันดัน 8 ถือหุ้นจำนวน 28,059,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.04%
“ณัฐกร อธิธนาวานิช” กรรมการ บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงการขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ BCP ว่า บริษัทได้ทยอยเก็บหุ้น BCP ทั้งการซื้อบิ๊กล็อตจาก Capital Asia Investments Pte. Ltd. หรือ กองทุน CAI ซึ่งเป็นกองทุนสัญชาติสิงคโปร์ กว่า 11% ส่วนที่เหลือไล่ซื้อหุ้นบนกระดาน และผู้ถือหุ้นรายอื่นที่เป็นบุคคล จนรวบหุ้นได้ 275.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับ 1
โดยใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ทุนจดทะเบียน บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด จำนวน 50 ล้านบาท เป็นการใส่เงินตามสัดส่วนการลงทุน บริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด (Alpha Global) ถือหุ้น 51% ใส่เงิน 25.5 ล้านบาท และ อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ (Encore Issuances S.A.) ถือหุ้น 49% ใส่เงิน 24.5 ล้านบาท ส่วนที่ 2 เงินในการเข้าซื้อหุ้น BCP จำนวน 9,950 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากทาง Encore Issuances S.A. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท Chartered Group
ขั้นตอนต่อจากนี้ หลังจากที่ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ BCP แล้ว จะมีการเข้าไปเจรจากับคณะกรรมการบริษัท BCP จากนั้นในเบื้องต้นจะส่งกรรมการเข้าไปนั่งตามสิทธิ์ จำนวน 2 คน เพื่อกำหนดทิศทางของ BCP
โดยเขาจะเข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการ ส่วนอีกคน คือ Mr.Tomas Koch ซึ่งเคยทำงานที่ McKinsey & Company ด้านพลังงานมามากกว่า 20 ปี
“คาดว่าเดือน พ.ค.นี้ จะได้เห็นบอร์ดใหม่ และทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของ BCP ซึ่งเป็นปกติที่จะมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกลยุทธ์ เราเข้าไปด้วยเจตนาที่ดี จะสร้างทั้ง Know How, Network และ Expert ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำเรื่อง Growth และ Transform เป็นหลัก”
“ณัฐกร” ให้ข้อมูลย้อนกลับไปถึงที่มาของการเข้ามาลงทุนใน BCP ในครั้งนี้ว่า เกิดจาก Chartered Group ซึ่งเป็นบริษัท Private Equity ระดับโลก มีมูลค่าเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Assets Under Management) กว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท สนใจเข้ามาลงทุน Private Equity หรือบริษัทนอกตลาดในไทย
แต่ด้วยความที่รู้จักกับ Chartered Group มาก่อนหน้านี้ จากการที่เคยทำดีลการลงทุนในไทย ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้แก่ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC
ดังนั้นจึงให้ความคิดเห็นไปว่า ด้วยขนาดของเงินที่เหมาะสมกับการลงทุนในแต่ละประเทศ หรือประมาณ 5% ของมูลค่าเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของ Chartered Group คิดเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาท ไม่เหมาะที่จะลงทุนในบริษัทนอกตลาด เพราะขนาดของเงินค่อนข้างใหญ่
ประกอบกับราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก ทำให้เป็นจังหวะที่สามารถลงทุนในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้ รวมทั้งเขาเองเติบโตมาจากที่ปรึกษาทั้งด้านกลยุทธ์และลงมือปฏิบัติในการฟื้นฟู ปรับปรุงคุณภาพ ปรับปรุงกิจการ แก้ไขปัญหาไปกับฝ่ายจัดการตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจวิธีการทรานฟอร์มธุรกิจต่างๆ
“ด้วย 2-3 องค์ประกอบ คือ ขนาดของเงิน เวลา Valuation และทักษะที่เรามี จึงสแกนหาตัว Opportunity ว่าควรจะอยู่ใน Sector ไหน ก็เลยกลับมาที่ธุรกิจพลังงาน ซึ่งผมก็จะมีประสบการณ์อยู่แล้ว เพราะตอนที่อยู่ McKinsey & Company ดูแลในส่วนของ Oil & Gas เคยทำโปรเจกต์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เราก็มีความเข้าใจในธุรกิจพลังงานดี”
ขณะเดียวกัน เมื่อกลับไปดูใน Sector ต่างๆ ในขณะนี้ พบว่า หุ้นพลังงานเทรดต่ำกว่าบุ๊กทั้งนั้น ดังนั้นจึงมองว่า BCP เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีเจ้าของชัดเจนเหมือนบริษัทมหาชนทั่วไป เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และเป็น Timing ที่ใช่ ทำให้มองว่าเป็นโอกาส จึงเป็นที่มาในการจัดตั้ง บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ขึ้น ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อัลฟ่า โกลบอล จำกัด (Alpha Global) และ อังกอร์ อิสชูแอนซ์ เอส เอ (Encore Issuances S.A.) บริษัทในเครือของ Chartered Group เพื่อเข้าลงทุนใน BCP
เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจเข้าลงทุนใน BCP เขาระบุว่าอย่างที่บอกไป BCP เป็นบริษัทที่ไม่มีเจ้าของชัดเจน การที่ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” เข้าไปถือหุ้นอันดับ 1 จะทำให้ BCP กลายเป็นองค์กรที่มีเจ้าของและมีคนดูแลผลประโยชน์ชัดเจน การบริหารงานในอนาคต ก็น่าจะชัดเจนขึ้น อีกทั้ง BCP มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทย มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง มีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล เนื่องจาก BCP อยู่ระหว่างการเปลี่ยนด้านพลังงาน ซึ่งต้องอาศัยการจัดการของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจพลังงานดั้งเดิมและพลังงานสมัยใหม่
นอกจากนี้ BCP ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC) และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการถือหุ้น ซึ่งจะสามารถ Optimize กระบวนการต่างๆ ระหว่างกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการดึงศักยภาพขององค์กรออกมาได้อย่างเต็มที่
ส่วนแผนและเป้าหมายในการพัฒนา BCP ไม่ได้มอง BCP เป็นธุรกิจพลังงานอย่างเดียว แต่มอง BCP เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เป็น Growth Platform ในการเข้าสู่ธุรกิจต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงศักยภาพของประเทศได้ โดยลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับ ecosystem ของธุรกิจพลังงานยุคใหม่ หรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิด New S-curve ไม่ว่าจะเป็น battery recycle, data center & Al, space หรือแม้แต่ nuclear ซึ่งล้วนแต่เป็นทิศทางใน next wave of growth โดยธุรกิจเหล่านี้ไทยมีจุดแข็งแต่ไม่มีใครลงไปทำ ซึ่งขนาดของ BCP ใหญ่มากพอที่จะทำได้
ทั้งนี้ “อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี” มีนโยบายที่จะสร้างตลาดพลังงานที่แข่งขันอย่างเสรี และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน มุ่งเน้นการผลิตและบริการที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นแกนนำในการผลักดันให้เกิดการบริการที่ดี มีมาตรฐานในระดับสากล นอกจากนี้ ยังแสวงหาโอกาสสร้างความมั่นคงด้านธุรกิจทางพลังงานในต่างประเทศ เพื่อให้มีฐานการลงทุนที่หลากหลายในมิติของด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
โดย Alpha Global ได้พิจารณาจัดเตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานทั้งในไทยและระดับโลก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำกลยุทธ์และดำเนินการด้านกลยุทธ์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนงานในอนาคต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ BCP
ขณะที่ Charted Group จะใช้เครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศหลักในโลก รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล นักธุรกิจในหลายประเทศจะเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนอกประเทศ และโอกาสในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในด้านพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เข้าถึงข้อมูล และเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจในรูปแบบของ private equity ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ BCP มีการปรับตัวได้ดีขึ้นในโลกปัจจุบัน อีกทั้ง Chartered Group มีการลงทุนธุรกิจ advanced technology / deep technology ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอนาคตในการใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสากรรม โดยหลายเทคโนโลยีที่อยู่ในระดับที่ได้เริ่มใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทไทยจะได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม BCP โฉมใหม่ หลักๆ ยังเป็นพลังงานยุคใหม่ และ 2-3 ปีจากนี้ จะเห็นเค้าโครงธุรกิจใหม่ที่อิงไปกับเมกะเทรนด์โลกข้างหน้า เพราะต้องใช้เวลาในการเติบโต แต่จะเป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น มีความผันผวนน้อยลง กําไรมีเสถียรภาพมากขึ้น
“BCP ต้อง Transform ให้เร็ว เดินหน้าปรับโครงสร้าง ซึ่งการเป็นองค์กรที่มีเจ้าของชัดเจน ทำให้ตัดสินใจเร็วขึ้น BCP จะเป็นปลาเร็วในหมวดพลังงาน รั้งเบอร์ 2 ที่ใกล้เบอร์ 1 มากขึ้น”
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นของ BCP ข้อมูล ณ วันที่ 14 มี.ค.2568
- 1.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง ถือหุ้น 273,172,600 หุ้น คิดเป็น 19.84%
- 2.สำนักงานประกันสังคม ถือหุ้น 208,114,497 หุ้น คิดเป็น 15.11%
- 3.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 190,956,603 หุ้น คิดเป็น 13.87%
- 4.CGS INTERNATIONAL SECURITIES SINGAPORE PTE. LTD. ถือหุ้น 67,046,315 หุ้น คิดเป็น 4.87%
- 5.กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 65,543,767 หุ้น คิดเป็น 4.76%
- 6.THE BANK OF NEW YORK MELLON ถือหุ้น 41,555,519 หุ้น คิดเป็น 3.02%
- 7.SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือหุ้น 28,540,398 หุ้น คิดเป็น 2.07%
- 8.บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ถือหุ้น 28,059,000 หุ้น คิดเป็น 2.04%
- 9.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.45%
- 10.น.ส.แคทรียา บีเวอร์ ถือหุ้น 16,843,300 หุ้น คิดเป็น 1.22%
- 11.บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 14,197,100 หุ้น คิดเป็น 1.03%
- 12.นางสมทรง ลาภานันต์รัตน์ ถือหุ้น 12,096,100 หุ้น คิดเป็น 0.88%
- 13.STATE STREET EUROPE LIMITED ถือหุ้น 11,577,599 หุ้น คิดเป็น 0.84%
- 14.น.ส.พิสชา เหมวชิรวรากร ถือหุ้น 10,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.73%
- 15.MR. HENDRIK ROBERTUS CASTENDIJK ถือหุ้น 9,979,900 หุ้น คิดเป็น 0.72%
- 16.EAST FOURTEEN LIMITED-DFA EMERG MARKET CORE EQ PORT ถือหุ้น 7,829,200 หุ้น คิดเป็น 0.57%