posttoday

ซื้อคืน US Dollar กดดันระยะสั้น

23 พฤษภาคม 2559

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

ความกังวลว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วเริ่มมีมากขึ้น หลังรายการประชุม FOMC (Fed Minutes) บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อ และการจ้างงานกำลังขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงโอกาสที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.59 หากเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณยืนยันการฟื้นตัวที่ดี 

ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรมีปฎิกิริยาต่อรายงานดังกล่าวทันที Fed Fund Futures ให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเดือน มิ.ย. พุ่งขึ้นมาที่ 32% จาก 19% แม้ว่าจะยังต่ำกว่า 50% แต่ตลาดก็เริ่มมองถึงโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งของ Fed เมื่อความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเดือน ก.ย. พุ่งขึ้นจาก 37% เป็น 61.8% และ เดือน ธ.ค. ขยับจาก 56.2% เป็น 74.8% 

US Dollar ตอบรับต่อ Fed Minute ด้วยการแข็งค่าแรง 0.56% สวนทางกับการอ่อนค่าของสกุลอื่นๆ (เงินบาทไทยอ่อนค่า 0.26%) โดยแนวโน้มการแข็งค่าของ US Dollar เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 3 พ.ค. –18 พ.ค.59 2.65% ตรงกันข้ามกับสกุลยูโรอ่อนค่า 2.22% และสกุลอื่นๆในเอเชีย โดย วอนเกาหลีอ่อนค่ามากที่สุด 4.08% ตามมาด้วย ริงกิตมาเลเซียอ่อน 3.69% เยนญี่ปุ่นอ่อน 3.17% สิงคโปร์ดอลลาร์อ่อน 2.82% บาทไทยอ่อน 2.36% รูเปี๊ยะอินโดฯ 2.07% ไต้หวันอ่อน 1.78% จะมีก็เพียงฟิลิปปินส์ที่แข็งค่า 0.69%  ภายใต้การอ่อนค่าของสกุลเงินในเอเชียในช่วงเวลาดังกล่าว Fund Flow ไหลออกจากตลาดเอเชียไม่มากเท่าไหร่นัก โดยขายสุทธิในไทยเพียง 31 ล้านเหรียญ อินโดฯ 94.5 ล้านเหรียญ แต่ขายไต้หวันหนัก 2.9 พันล้านเหรียญ ขณะที่ฟิลิปปินส์เป็นซื้อสุทธิ 28.4 ล้านเหรียญ 

ฝ่ายวิจัยมองว่าความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. มีค่อนข้างต่ำ เพราะ Fed ไม่น่าที่จะทำอะไรช็อกตลาด และคาดว่าจะรอดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แน่ใจกว่านี้ ทั้งเงินเฟ้อที่แม้จะดีขึ้นแต่ยังห่างไกลเป้าหมาย หรือการจ้างงานที่ไม่เสถียรหลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มเพียง 1.6 แสนตำแหน่ง (อ่อนตัว 2 เดือนติดต่อกัน) และต่ำกว่าตลาดคาดมาก ทำให้การซื้อคืน US Dollar น่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจกดดันสินทรัพย์เสี่ยงบ้าง แต่จะไม่รุนแรง สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ การประชุมต่างๆที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. ทั้ง การประชุมธนาคารกลางยุโรป ECB ในวันที่ 2 มิ.ย. การประชุม BoJ15-16 มิ.ย. หากมีการคงหรือขยายนโยบายการเงินผ่อนคลาย น่าจะทำให้การประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 มิ.ย. Fed จะขึ้นดอกเบี้ยยากมากขึ้น 

การซื้อคืน US Dollar จะกดดันสินทรัพย์และโภคภัณฑ์อย่างราคาน้ำมันพอสมควร ทั้งนี้จุดเปลี่ยนของราคาน้ำมันนอกจากจะขึ้นอยู่กับการพลิกมาแข็งค่าของดอลลาร์แล้วยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์กระแสอุปทานน้ำมันดิบของโลกที่หายไปจากตลาดรวม 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจะบรรเทาเมื่อไหร่ ซึ่งหากความขัดแย้งในลิเบียสงบลงอาจทำให้อุปทานกลับมาราว  1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน  เช่นเดียวกับสถานการณ์ไฟป่าในแคนาดาหากคลี่คลาย กำลังการผลิตที่ลดลงไป 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะฟื้นตัวกลับมา ส่วนของการผลิตของไนจีเรียที่หายไป 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน น่าจะฟื้นกลับมาหากไนจีเรียสามารถซ่อมท่อขนส่งน้ำมันดิบในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตี  นอกจากนั้นการประชุมกลุ่มโอเปกเดือน มิ.ย. หากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจำกัดเพดานกำลังการผลิต ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำมันพลิกกลับมาปรับลงอีกครั้งได้