คนไทยกินทุเรียนแพงแต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอนที่ 1)
โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นราคาผลไม้ไทยหลายๆ อย่างมีราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้โปรดของผมที่ราคาเคยซื้อกิโลกรัมละประมาณ 35-50 บาท เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แต่ปีนี้เป็นปีที่ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยคิดเลยว่า จะต้องซื้อทุเรียนหมอนทองสนองความอยากส่วนตัวที่ราคากิโลกรัมละ 140 บาท คิดเป็นการขึ้นราคามากถึง 300% เมื่อเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงเวลาเดียวกัน จากปี 2553 ที่อยู่ที่แถวๆ 94 ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 107 เป็นการขึ้นมาเพียง 14%
นับว่าราคาทุเรียนหมอนทองขึ้นมามากกว่า CPI ถึง 21 กว่าเท่า และเป็นปีแรกที่ผมเห็นมีโฆษณาการจัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียนที่จัดขึ้นในห้างใหญ่ใจกลางเมือง 2 แห่ง ในราคาหัวละ 349-549 บาท น่าดีใจแทนเจ้าของส่วนทุเรียนที่ผลผลิตขายได้ราคา สร้างความร่ำรวยให้แก่เจ้าของสวนกันถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่ทุเรียนเท่านั้นที่หลายปีที่ผ่านมามีราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นมะพร้าว ที่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้วยังพอหาซื้อได้ในราคาลูกละ 10-15 บาท แต่ปัจจุบันราคาขายปลีกพุ่งขึ้นไปถึง 30-45 บาท ราคาขึ้นมาประมาณ 200-300% เลยทีเดียว
ล่าสุด ผลไม้ที่ผมสังเกตเห็นราคาขึ้นมาอย่างเงียบๆ ก็คือ กล้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอมที่เคยซื้อตกใบละประมาณ 3-5 บาท/ใบ ขึ้นอยู่กับขนาด แต่ปัจจุบันราคาแอบขึ้นมาถึงใบละ 6-8 บาทแล้ว ราคากล้วยหอมก็ขึ้นถึง 60-100% หรือกล้วยน้ำว้าที่ผมเคยซื้อหวีละ 20-30 บาท ปัจจุบันราคาหวีละ 50-60 บาทไปแล้ว ขึ้นมาประมาณ 100% เช่นกัน
ผมพยายามหาสาเหตุว่าทำไมราคาผลไม้เหล่านี้ ทำไมกี่ปีนี้ถึงมีราคาขึ้นมามากมายนัก ทุเรียนเป็นตัวที่เข้าใจง่ายมากที่สุด เพราะว่ามีความต้องการจากจีน หลังจากที่คนจีนได้รู้จักและลิ้มลองทุเรียนบ้านเราแล้ว ก็ติดอกติดใจในรสชาติผลไม้ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ของไทยเข้าไปอย่างจัง ถึงขนาดที่มีล้งจากจีน มาเหมาทุเรียนบ้านเราเป็นสวนๆ กันเลยทีเดียว ทำให้ปริมาณการผลิตมีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามหลัก ความต้องการซื้อและความต้องการขาย เมื่อความต้องการซื้อมีมากขึ้นในขณะที่การผลิตขยายตัวไม่ทัน ราคาทุเรียนจึงสูงขึ้นอย่างมาก และรวดเร็วอย่างที่เราเห็นๆ กัน และทุเรียนไม่ใช่ปุบปับอยากจะเพิ่มปริมาณก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ทันที การปลูกทุเรียนจนกว่าจะออกผลให้เรารับประทานกันได้ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี แล้วแต่สภาพแวดล้อม โดยทุเรียนชอบน้ำ แต่ไม่ถึงกับแฉะ แล้วแต่สภาพดินและภูมิอากาศรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ก็มีผลต่อรสชาติและผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งความชำนาญ และความรู้ในการทำสวนทุเรียน สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดคือ ทางการจีนเอง อาจจะมีการทำวิจัย และพัฒนาพันธุ์ทุเรียน แล้วปลูกรับประทานเองในประเทศของเขา และยิ่งนานไป เผลอๆ จะมีผลผลิตมากพอที่นอกจากจะบริโภคภายในประเทศ แล้วยังมีเหลือส่งออกด้วย ถึงเวลานั้นชาวสวนทุเรียนของไทยคงจะพากันเดือดร้อน แล้วคงต้องมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ เหมือนพืชเกษตรกรรมตัวอื่น
จะเห็นได้ว่า มูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นปี 2558 ที่ปริมาณการส่งออกทุเรียนลดลงนิดหน่อย เมื่อเทียบกับปี 2557 ผมลองเอาปริมาณไปหารมูลค่าเพื่อจะได้ตัวเลขราคาเฉลี่ยต่อกิโกกรัม พบว่าราคาเฉลี่ยของทุเรียนส่งออกตั้งแต่ปี 2553 จนถึงเดือน ก.ค. 2559 เป็นดังนี้
จะเห็นได้ว่าราคาทุเรียนส่งออกต่อกิโลกรัมมีราคาสูงขึ้นตลอด (ยกเว้นปี 2554) แล้วมาเพิ่มแบบก้าวกระโดดในปี 2557 คือเพิ่มขึ้นถึง 68.17% (ดูแล้วน่าลงทุนกว่าหุ้นจริงๆ?) น่าจะเป็นเพราะความต้องการจากจีนที่มีสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ทุเรียนไทยเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจีน จากการที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้ลิ้มลองชิมทุเรียน รวมทั้งการที่หน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนได้นำผลไม้ไทย (รวมทั้งทุเรียน) ไปแนะนำ และเปิดตลาดในจีนอย่างต่อเนื่อง รสชาติที่โดดเด่นของทุเรียนไทยที่เทียบกับทุเรียนของประเทศอื่นๆ กอปรกับปริมาณการผลิตทุเรียนในไทยที่มากที่สุดในโลก (ทั้งๆ ที่ทุเรียนเริ่มต้นปลูกกันบนเกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซียและมาเลเซีย) ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดหลักๆ ของไทยก็คือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เนื้อที่หมดแล้ว บทความหน้ามาคุยกันถึงผลไม้ตัวอื่นๆ กันครับ