เรดวัน เน็ตเวิร์ค ดิ้นตาย หันซบ ทรูฯให้บริการ MVNO เหตุคลื่น NT หมดอายุ
15 ค่ายมือถือรายย่อย ระส่ำ “ เรดวัน เน็ตเวิร์ค” หันซบ ทรูฯ หวังเป็นพันธมิตร MVNO หวั่น NT หมดใบอนุญาต ส.ค.68 ต้องคืนคลื่นให้กสทช.จัดสรรใหม่ กระทบการให้บริการ เผยรายได้ย้อนหลัง 5 ปี ล่าสุดปี 66 รายได้ 23 ล้านบาท ขาดทุน 128 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคลื่นความถี่ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะสิ้นสุดใบอนุญาต ในเดือนส.ค. 2568 และต้องส่งคืนคลื่นความถี่กลับมายังกสทช.เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ดังนั้นจึงมีความกังวลว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโครงข่ายเสมือน MVNO : Mobile Virtual Network Operator จะได้รับกระทบเพราะมีการซื้อปริมาณความจุเพื่อนำไปให้บริการกับลูกค้าจะเกิดปัญหาความต่อเนื่องในการให้บริการได้
ดังนั้น MVNO จึงพยายามหาทางออกเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท เรดวัน เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท MVNO ของ NT ได้ติดต่อขอเป็น MVNO กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งทรูฯพร้อมเปิดกว้างรับ MVNO แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ว่าเงื่อนไขทางธุรกิจที่ทรูฯตั้งไว้จะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการให้บริการ ที่สำคัญคือราคาความจุของเครือข่ายที่จะนำไปทำธุรกิจต่อ
สำหรับ เรดวัน เน็ตเวิร์ค คือบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำจากประเทศมาเลเซีย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือราคาประหยัด ภายใต้แบรนด์ เรดวัน ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานทั้งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ การันตีด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านเลขหมายและรางวัลเครือข่ายมือถือยอดเยี่ยมในระดับอาเซียน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า เรดวัน เน็ตเวิร์ค จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 รายชื่อกรรมการ 3 คน ประกอบด้วย นายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์,นายโมฮัมหมัด ฟาริด บิน โมฮาเหม็ด ยูนัส และ นายเต เบง ฮอก โดยนายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์ นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 37 ล้านบาท โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน 3 ครั้ง จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2562 เพิ่มทุนครั้งที่ 1 เป็น 1.960 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 และ ครั้งที่ 2 เป็น 10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 และครั้งที่ 3 เป็น 37 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564
สำหรับผลประกอบการ พบว่า
ปี 2562 ยังไม่มีรายได้ ขาดทุน 89,852 บาท
ปี 2563 รายได้ 1,305,177 บาท ขาดทุน 4,762,479 บาท
ปี 2564 รายได้ 7,280,708 บาท ขาดทุน 65,163,808 บาท
ปี 2565 รายได้ 12,008,897 บาท ขาดทุน 90,966,920 บาท
ปี 2566 รายได้ 23,899,641 บาท ขาดทุน 128,891,810 บาท
อย่างไรก็ตาม เรดวัน เน็ตเวิร์ค ได้ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 โดยในครั้งนั้น นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำ MVNO แห่งภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แบรนด์ “เรดวัน (redONE) เปิดตัว “ซิมรายเดือนเรดวัน” ครั้งแรกที่เครือข่ายแบบ MVNO มาพร้อมบริการรายเดือนราคาประหยัด ภายใต้แนวคิด Back to basics แพ็คเกจเข้าใจง่าย ครบทั้งโทรและอินเทอร์เน็ต เริ่มต้นถูกที่สุดเพียง 99 บาท
เรดวัน จึงออกแบบแพ็คเกจภายใต้แนวคิด Back to Basics ที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้งาน ในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่แพงจนเหลือใช้และไม่น้อยจนขาดช่วง ทำให้ลูกค้าไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่จำเป็น และได้ใช้มือถือตรงความต้องการอย่างแท้จริง และด้วยปรัชญาองค์กรที่เข้าใจง่ายทำให้เราเป็นที่ยอมรับและเติบโตอย่างแข็งแรงในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมี MVNO อยู่ 15 ราย ประกอบด้วย
บริษัท วัน-ทู-ออล จำกัด
บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท โอ เอส ดี จำกัด
บริษัท นำ เทเลคอม จำกัด
บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด
บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แชล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
บริษัท เอ็น.เอส.ดิจิตอล เน็ตเวิร์ค จำกัด
บริษัท เฟรนด์ ดิจิทัล เซอร์วิสเซส จำกัด
บริษัท ฟีล เทเลคอม คอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด
บริษัท เรดวัน เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท บางกอก เทลลิ้ง จำกัด
บริษัท เซ็นทรัล เทเลคอม จำกัด
บริษัท วันโอวัน โกลเบิ้ล จำกัด
บริษัท เอ เทเลคอม จำกัด