มีเงิน 500 บาท ก็จัดพอร์ตลงทุนได้
บริการออกแบบการลงทุน กับก.ล.ต. แค่ 500 บาท ก็เริ่มต้นลงทุนได้
เรื่อง พูลศรี เจริญ
ข้อมูลเยอะ ไม่เข้าใจ เปรียบเทียบไม่ถูก เงินน้อย ลงทุนอะไรดี หากมีปัญหาเรื่องการลงทุนเหล่านี้ ต้องพึ่งบริการ “ออกแบบการลงทุน”
บริการออกแบบการลงทุนที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดตัวโครงการ “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” ซึ่งเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน สร้างประสบการณ์ใหม่ของการแนะนำการลงทุนอย่างครบวงจร ผ่านบริการออกแบบการลงทุน 5 ขั้นตอน มุ่งเป็นตัวช่วยสำคัญให้ประชาชนได้รับการดูแลการลงทุนที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500 บาท หรือ 1 ล้านบาท ก็สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้
แต่ไม่ง่ายที่ทุกคนจะมี “ตัวช่วย” ในการคิดวิเคราะห์ก่อนการลงทุนและมี “ตัวช่วย” ติดตามหลังการลงทุนไปแล้ว ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าจะเชื่อคำแนะนำการลงทุนไหนดี หรือไม่มั่นใจในคำแนะนำเหล่านั้น ลองมองหาสถาบันการเงินที่มีตราสัญลักษณ์ “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” เพื่อพบกับประสบการณ์ใหม่ของการให้คำแนะนำการลงทุนอย่างครบวงจร ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
“รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ย้ำว่า โครงการดังกล่าวจะตอบโจทย์ความมั่นคง ในระยะยาว ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้นักลงทุนในวงกว้างเข้าสู่ตลาดทุนเพื่อสร้างอิสระทางการเงินได้ จากปัจจุบันตลาดทุนไทยมีมูลค่าการลงทุนสูง แต่กลับมีคนเข้ามาลงทุนเพียง 3-4 ล้านคน จาก60 ล้านคนเท่านั้น
“ที่ผ่านมา คนที่เข้าถึงบริการให้คำปรึกษาวางแผนทางการเงินจะเป็นระดับคนรวย หรืออำมาตย์เท่านั้น แต่ต่อไปนี้รายย่อยก็สามารถเข้าถึงได้ ผ่านโครงการ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน”
เลขาธิการ ก.ล.ต. สะท้อนว่า ที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปมักประสบปัญหาในการลงทุน เนื่องจากได้รับข้อมูลมากมาย แต่ไม่สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีอยู่หลากหลายได้ หรือได้รับคำแนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์เป็นรายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ผู้ขายได้รับค่าตอบแทนการขายสูงหรือต้องการเพิ่มยอดขาย รวมทั้งขาดผู้ติดตามดูแลการลงทุนให้หลังจากที่ได้ลงทุนไปแล้ว จึงทำให้คนทั่วไปไม่สามารถใช้ตลาดทุนเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินได้
สำหรับรายละเอียดของ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน มีดังนี้
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการเพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุน โดยให้ผู้ลงทุนได้ตรวจสอบเป้าหมายและความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจผู้ลงทุน เพื่อให้กำหนดแนวทางการออกแบบการลงทุนได้สอดคล้องตามจริงกับพฤติกรรมและความสนใจของผู้ลงทุน
ขั้นที่ 2 การกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน (Asset Allocation) เพื่อให้สัมพันธ์กับเป้าหมายและความเสี่ยง ที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ขั้นตอนนี้เป็นการออกแบบสัดส่วนในการแบ่งเงินไปลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ ว่าจะลงในตราสารประเภทไหน ลงกองทุนรวมหรือหลักทรัพย์ลักษณะใด ในสัดส่วนเท่าไร โดยจะวิเคราะห์และกำหนดให้ชัดในขั้นตอนนี้ เพื่อวางรากฐานสัดส่วนเงินลงทุนของผู้ลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการในระยะยาว
ขั้นที่ 3 การเลือกลงทุนตามเป้าหมาย การเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาลงทุนตามสัดส่วนเงินลงทุนในขั้นตอนที่ 2 เป็นการลงรายละเอียดว่าควรลงทุนในอะไร ซึ่งจะเลือกด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความเข้าใจที่สอดคล้องกับ
เป้าหมายและความเสี่ยง ที่ผู้ลงทุนรับได้ ทำให้การตัดสินใจลงทุนมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน
ขั้นที่ 4 สถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การหยุดนิ่งจะเป็นจุดอันตรายที่ทำให้การลงทุนผิดเป้าได้ง่าย การติดตามและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันกับสถานการณ์ จะช่วยให้แผนการลงทุนไปถึงเป้าหมายได้จริงมากยิ่งขึ้น เมื่อแนะนำมาถึงขั้นที่สามแล้ว ขั้นที่สี่จึงเป็นเสมือนเพื่อนที่จะช่วยคอยดูแลให้การลงทุนไม่หลุดจากเป้าหมายที่กำหนดไว้
ขั้นที่ 5 การรายงานสถานะการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบเป็นระยะๆ มีผลอย่างมากต่อการติดตามตรวจสอบและทบทวนการลงทุน ว่ามีความคืบหน้า สอดคล้อง และเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้แล้วหรือยัง
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการออกแบบการลงทุนบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th และผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.5 ขั้นมั่นใจลงทุน.com และเฟซบุ๊กเพจ 5 ขั้นมั่นใจลงทุน หรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถาม ก.ล.ต. ที่โทร. 1207
สำหรับรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจ 26 ราย ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ออกแบบการลงทุนได้รับอนุญาตแล้วมีดังนี้
กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. จำนวน 7 ราย ได้แก่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) บล.กสิกรไทย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บล.ธนชาต บล.บัวหลวง บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.จำนวน 7 ราย ได้แก่ บลจ.กรุงไทย บลจ.กรุงศรี บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทหารไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จำนวน 6 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
กลุ่มบริษัทประกันชีวิต จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และบริษัท เอไอเอ
กลุ่มฟินเทคสตาร์ทอัพ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา บลน.โรโบเวลธ์ บลน.เว็ลธ์ เมจิก บริษัท หลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) เทรเชอริสต์
จากการสำรวจผู้ประกอบการที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการออกแบบการลงทุนบอกว่าพร้อมเดินหน้าให้บริการ เช่น บล.กสิกรไทย ที่มีแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นรองรับการบริการ มีเทคโนโลยีที่คอยติดตามและดูแลพอร์ตของลูกค้า ฝั่ง บลจ.กสิกรไทย มีบริการออกแบบการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวมผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น “K-My Funds”
สำหรับ บลจ.กรุงไทย อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรายงานการลงทุนให้กับลูกในโครงการนี้โดยเฉพาะ คาดว่าเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ “Premier Advice” ในเฟสแรกจะเชื่อมต่อฟังก์ชั่นเข้ากับระบบ ซื้อขายกองทุนออนไลน์ “Premier Online” เปิดให้บริการเดือน ต.ค.นี้ และจะเชื่อมต่อไปยังโมบายแอพพลิเคชั่นของบริษัทต่อไป