posttoday

มารู้จัก หนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) กันเถอะ

25 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...ธเนศ นวะบุศย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...ธเนศ นวะบุศย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

การทำธุรกิจทุกวันนี้ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็น ความมีชื่อเสียง ประสบการณ์ ผลประกอบการ ฐานะการเงิน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนการมีประวัติกับธนาคารในด้านสินเชื่อย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมีตามกันมา ซึ่งสินเชื่อที่จำเป็นกับการทำธุรกิจก็มีให้บริการอยู่หลากหลายประเภท และหนึ่งในนั้นก็มีสินเชื่อที่เราเรียกกันว่า หนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) หรือ ตัวย่อ คือ LG วันนี้เราจะแนะนำหนังสือค้ำประกัน ให้ได้รู้จักกัน

มารู้จัก หนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee: LG) กันเถอะ

หนังสือสัญญาค้ำประกัน คือ หนังสือที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อรับรองว่า ธุรกิจนี้จะทำการจ่ายเงินหรือทำตามสัญญาต่างๆที่ทำกับคู่ค้าหรือทำกับลูกค้า จะคุ้มครองคนขายและคนซื้อได้ทั้ง 2 ฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนให้เอง หรือ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นลักษณะการให้บริการออกหนังสือค้ำประกัน เพื่อค้ำประกันความรับผิดชอบของลูกค้าต่อหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นคู่สัญญาของลูกค้า ว่าหากลูกค้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ได้ทำไว้ ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกัน

ประโยชน์ของหนังสือสัญญาค้ำประกัน คือ

- หน่วยงานรัฐ เอกชน ที่เป็นคู่ค้า จะได้รับการคุ้มครองจากธนาคารอีกชั้น หากเกิดกรณีผิดนัดไม่ทำตามสัญญา ธนาคารจะรับผิดชอบแทน

- หนังสือสัญญาค้ำประกันมีหลายประเภท ทำให้สามารถให้ความคุ้มครองได้กับหลากหลายประเภทธุรกิจ

- การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้น ง่าย สะดวก รวดเร็วกว่าการค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์

- ลูกค้าที่ประสงค์จะยื่นประมูลงาน หรือ ติดต่อทำสัญญากับหน่วยราชการ หรือผู้รับประโยชน์อื่นๆ สามารถขอออกหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อนำไปวางเป็นประกันแทนการวางหลักทรัพย์อื่นได้ เช่น เงินสด พันธบัตร เป็นต้น

ประเภทหนังสือค้ำประกันที่ธนาคารให้บริการ ส่วนใหญ่จะแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการค้ำประกัน เช่น

• หนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคา หรือประมูลราคา (Bid Bond)

• หนังสือค้ำประกันสัญญา (Performance Bond) เช่น หนังสือค้ำประกันการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้าง หนังสือค้ำประกันการชำระค่าสินค้า และหนังสือค้ำประกันค่าไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้วงเงินของหนังสือค้ำประกันจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยระยะเวลาการค้ำประกันขั้นต่ำจะอยู่ที่ 90 วัน หลักประกัน เช่น เงินฝาก อสังหาริมทรัพย์ หรือตามที่ธนาคารกำหนด

เอกสารประกอบการขอสินเชื่อ

• เอกสารตามวัตถุประสงค์ของการค้ำประกัน เช่น เอกสารการประกวดราคาจัดซื้อ และ/หรือจัดจ้าง หนังสือสัญญา และ/หรือร่างสัญญา ใบแจ้งหนี้ (Invoice) และใบสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order) เป็นต้น

• ตัวอย่าง หรือแบบฟอร์มหนังสือค้ำประกันจากผู้รับประโยชน์ (ถ้ามี)

• เอกสารแสดงตน เอกสารทางการเงินและเอกสารด้านหลักประกันผู้ขอใช้บริการ

• เอกสารผู้ขอสินเชื่อเพิ่มเติม เช่น เอกสารแสดงตน , เอกสารทางการเงิน , เอกสารหลักประกัน (ตามเกณฑ์ธนาคารกำหนด)

• อื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

ทุกวันนี้การขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้รับประโยชน์ อีกทั้งขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก สะดวกในการใช้งาน และสามารถอนุมัติได้ฉับไว