posttoday

ความสันโดษ เป็นมงคล : Moral Quotient

18 มกราคม 2553

โดย...คุณสลิล

โดย...คุณสลิล

มงคลคาถาที่ 7

คารโว จ ความเคารพ 1

นิวาโต จ ความถ่อมตน 1

สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ 1

กตญฺญุตา ความกตัญญู 1

กาเลน ธมฺมสฺสวนํ   การฟังธรรมตามกาล 1

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ   กรรม 5 อย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

สองอาทิตย์ที่ผ่านมา MQ ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมงคลคาถาที่ 7 ของมงคล 38 ประการ ตั้งแต่ความเคารพและความถ่อมตนไปแล้ว ส่วนวันนี้ก็ถึงเรื่องของความสันโดษ หรือที่เรียกภาษาบาลีว่า สนฺตุฏฺฐี

ความสันโดษ หมายถึง ความพอใจตามมีตามได้ พอใจตามสมควร ตามกำลังความสามารถ ตามฐานะ พอใจตามควรแก่ศีลธรรม หมายถึง ความไม่มักมาก ความรู้จักประมาณ ไม่โลภ รู้จักพอ เหล่านี้

ความสันโดษนับเป็นมงคลอย่างสูงสุด อันดับที่ 23 ในมงคล 38 เป็นมงคลยิ่งสำหรับทั้งนักบวชและทั้งฆราวาส

สำหรับนักบวชนั้น ความสันโดษมีความสำคัญ เพราะบรรพชิตดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาศัยศรัทธาของผู้อื่น ในการถวายบิณฑบาตและปัจจัย 4 ดังนั้น บรรพชิตจึงต้องมีความสันโดษ รู้จักประมาณในการรับ แม้เขาให้มากก็รับตามควรจึงจะทำให้เกิดศรัทธา ดังเรื่องสมัยพุทธกาลมีพราหมณ์ผู้หนึ่งยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงคิดลองดูว่าพระในพระพุทธศาสนานี้ ท่านจะเป็นผู้ไม่โลภในอาหาร เป็นผู้ไม่มักมากจริงหรือไม่ พราหมณ์ผู้นั้นได้นำเอาอาหารมา 1 ขัน เข้าไปสู่วิหาร ถวายพระซึ่งนั่งฉันอยู่ 30 รูป พระเถระก็หยิบไว้หน่อยหนึ่ง แล้วก็ส่งต่อๆ ไป ภิกษุทั้งหลายก็หยิบไว้เพียงหน่อยหนึ่ง แล้วส่งต่อไปได้จนครบ 30 รูป พราหมณ์ได้เห็นดังนั้นก็เลื่อมใส จึงบริจาคทรัพย์เป็นอันมากสร้างวิหาร ดังนี้เป็นต้น

ส่วนเรื่องของฆราวาส คนทั่วไปนั้นเราคงเห็นตัวอย่างมากมายอยู่แล้ว การที่ผู้ใดจะเป็นผู้ที่ได้รับความไว้ใจ ได้รับความรัก ความเชื่อถือ ก็ต้องมีความสันโดษเป็นคุณสมบัติ ความสันโดษจะแสดงให้เห็นได้แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดังเช่น เรื่องการฉันอาหารของพระนั่นเอง การที่คนส่วนใหญ่ชอบคนที่มีความสันโดษก็เพราะไม่มีใครต้องการถูกผู้อื่นเบียดเบียน คดโกง เอาเปรียบ เพราะต่างก็รักในสมบัติของตน

ว่ากันว่าหากต้องการทำให้ผู้ใดที่เคยดีกับเรา เคยศรัทธาเรา เกลียดเรา ก็ให้สังเกตดูว่าเขามีของอะไรที่เป็นของรักของหวง แล้วก็ให้ขอสิ่งนั้น แรกๆ เขาก็อาจจะให้ แต่สุดท้ายเขาจะห่างหายไปเอง ดังคำว่า “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” ในทางตรงข้ามกันก็เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะผู้ที่มักขอ หรือขอในสิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่ผู้นั้นหวงแหน ย่อมไม่เป็นที่รักอย่างแน่นอน ผู้ที่มีแต่ความโลภ ความต้องการโน่นนี่เสมอ ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ จึงไม่เป็นที่รักของใครๆ อย่างแน่นอน

ผู้ที่มีความสันโดษอย่างแท้จริง จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ประมาณในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และมีความงดงามในการดำรงชีวิต

อย่างไรก็ตาม ความสันโดษนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องสละทุกอย่าง จะมีอะไรไม่ได้เลย ความสันโดษ หมายถึง มีพอสมควรแก่ตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่บำรุงบำเรอกิเลสตัณหามากเกินไปต่างหาก ดังนั้นแม้เศรษฐีหรือยาจกก็มีความสันโดษได้ ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อมีความสันโดษในการดำเนินชีวิตแล้ว ย่อมเป็นมงคลอย่างยิ่งทั้งนั้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นอิงหลักธรรมะ ท่านสามารถส่งคำถามหรือข้อติชม ทาง e-mail มาได้ที่ [email protected]