posttoday

รัฐธรรมนูญ กับหลักประชาธิปไตย ความหมายที่หายไป

10 ธันวาคม 2565

10 ธ.ค.ของทุกปี เป็น วันรัฐธรรมนูญ รัฐไทยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ กำหนดให้วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 พื้นฐานความสำคัญของ รัฐธรรมนูญ เป็นการกำหนดขึ้นมาจากคณะผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ

รัฐธรรมนูญ กับหลักประชาธิปไตย ความหมายที่หายไป

     10 ธ.ค.ของทุกปี เป็น วันรัฐธรรมนูญ  รัฐไทยให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ กำหนดให้วันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 หลังคณะราษฏร์ ภายใต้การนำของข้าราชการทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้าได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยใช้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในการกำหนดการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และรัฐบาลในขณะนั้นให้ความสำคัญกำหนดให้วันที่ 10 ธ.ค. เป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นวันหยุดราชการ  มีการจัดงานเฉลิมฉลอง รัฐธรรมนูญ กันมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

     พื้นฐานความสำคัญของ รัฐธรรมนูญ เป็นการกำหนดขึ้นมาจากคณะผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ เป็นการกำหนดขึ้นมาของเหล่าบรรดาผู้นำ  ที่นำเข้าระบบประชาธิปไตย ที่ใช้กฎหมายในการปกครองประเทศมาใช้  ในขณะนั้นประชาชนยังไม่มีความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่ เพราะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นผู้ปกครองสูงสุด มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้อำนาจผ่านระบอบราชการที่ขึ้นตรงต่ออำนาจของพระมหากษัตริย์

     การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากระดับนำของกลุ่มคณะทหาร ราชการพลเรือนที่มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศได้เห็นรูปแบบของการปกครองจากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาเป็นต้นแบบ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยมาก่อนเลย โดยหวังว่า ประชาชนจะสามารถเรียนรู้ได้เองหลังจากนั้น การกำหนด "วันรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมาเป็นวันสำคัญของชาติ เป็นวันหยุดราชการ ด้วยความต้องการสร้างหมุดหมายกระตุ้นให้คนได้ตระหนักเพื่อเรียนรู้และเข้าใจ รัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสำคัญในการปกครองประเทศ ต้องการก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน เป็นการให้ความสำคัญกับประชาชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ


     นับจากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาครบ 90 ปีพอดี ถามว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยหรือยัง เข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่

     หลักการรับรองสิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมายเดียวกันของพลเมืองในด้านต่างๆ  ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ถูกนำมาใช้เป็นหลักยึดของสังคมไทยหรือยัง 
ในการเมืองการปกครอง ที่ใช้รูปแบบการเลือกตั้ง เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิของตัวเองเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนในการบริหารประเทศ หรือถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร และทำหน้าที่นิติบัญญัติ ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ได้ทำหน้าที่ตรงตามเจตนาตามหลักการประชาธิปไตยหรือยัง เรายังเห็น พรรคการเมือง ที่เป็นกลไกลสำคัญของระบบประชาธิปไตย เป็นที่รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่หรือยัง

     เราเห็นแต่พรรคการเมือง นักการเมือง ที่หวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์ของครอบครัวและพวกพ้องอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง  เราเห็นการกอบโกยผลประโยชน์ของชาติไปใส่มือนายทุนที่เป็นพลังหนุนหลังของตัวเองอย่างเป็นกอบเป็นกำ เป็นหมื่นล้าน แสนล้านโดยที่ประชาชนและตัวแทนประชาชนไม่สามารถเข้าไปคัดค้านได้อยู่เรื่อยมา

     เราเห็นการใช้อำนาจกฎหมาย อำนาจหลัก 1 ใน 3 ของหลักประชาธิปไตย ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันหรือยัง  แต่เราเห็นการใช้อำนาจกฎหมายช่วยเหลือให้คนรวย คนมีอำนาจ พ้นความผิดไปได้อย่างลอยนวล ค้านสายตาคนทั้งประเทศอยู่บ่อยครั้ง

     ทุกวันนี้เรายังฉลองวันรัฐธรรมนูญ หลังจากผ่านมา 90 ปี โดยที่หลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย เรามี อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางถนนราชดำเนิน  โดยที่ไม่รู้ความหมาย ความสำคัญของมัน เราเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญแต่กลับมีการปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเป็นอันดับต้นๆของโลก เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึงวันนี้ 20 ฉบับ แต่เรายังห่างไกลหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง เรายังคงวนเวียนอยู่กับปรากฎการณ์เหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ หากประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยตามระบอบยังไม่เข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตยและห่วงแหนสิทธิ เสรีภาพ ภารดรภาพ อย่างแท้จริง ถึงเวลาที่เราจะหยุดวงจรเหล่านี้และทำให้ รัฐธรรมนูญ มีความหมายที่แท้จริงได้หรือยัง