posttoday

สำรวจการเก็บ VAT ทั่วโลก พร้อมเปิดมุมมองปฏิรูปภาษีไทยในอนาคตไปทางไหน

14 มิถุนายน 2566

เปิดคลัง VAT ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วต่างอยู่ในอัตราค่อนข้างสูงถึง 25% ย้อนกลับมามองการปฏิรูปภาษีไทยในอนาคตควรเดินไปไปทางไหน ทั้งเพิ่มรายให้รัฐพร้อมนำไปใช้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

VAT ย่อมาจาก Value Added Tax คือ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” จัดเป็นภาษีประเภทหนึ่งที่เก็บจากการขายสินค้าหรือบริการที่เข้าเงื่อนไข ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้จัดเก็บ VAT ในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2535 ที่ไทยเริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2535 ที่จัดเก็บในอัตรา 10% จนถึงในปี พ.ศ. 2540

ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐจึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุก 2 ปีเพื่อให้จัดเก็บในอัตรา 7% เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นตลอด 25 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่าอัตราภาษี VAT ในไทยจะจัดเก็บอยู่ที่ 7% แทนที่จะเก็บในอัตรา 10% 

VAT คืออะไร แตกต่างจากการเก็บภาษีทั่วไปอย่างไร? 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้นเป็นภาษีทางอ้อม ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี แต่สามารถผลักภาระภาษีนี้เพื่อไปเรียกเก็บจากผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าและบริการได้

โดย VAT จะถูกบวกเพิ่มไปในราคาของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แทน ซึ่งแตกต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเป็นภาษีทางตรงจัดเก็บจากผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ในแต่ละปีภาษี โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ฯ จะไม่สามารถผลักภาระภาษีไปให้แก่ผู้อื่นได้

หากพิจารณาหลักในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า “มูลค่าเพิ่ม” นั้นเกิดเมื่อมีการนำวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการผลิต “มูลค่า” ของผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมานั้นจะ “เพิ่ม” มากขึ้น และรัฐก็จะสามารถเรียกเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมานี้ได้

หากอธิบายให้เห็นภายง่าย ๆ เช่น ผู้ประกอบการผลิตรายหนึ่งทำธุรกิจโดยการซื้อเนื้อไก่สด เพื่อมาทำการแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าประเภทไก่ปรุงรสแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวย่อมมีมูลค่ามากกว่าเนื้อไก่สด และผู้ประกอบการก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของ “มูลค่า” ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะถูกคิดจากราคาที่ขายเนื้อไก่แปรรูปนั่นเอง

ต่อมา หากผู้ประกอบการขายอาหารได้ซื้อเนื้อไก่ปรุงรสแช่แข็งไปประกอบเป็นอาหารเพื่อขายก็จะต้องเสีย VAT เพิ่มในส่วนต่างที่เกิดขึ้นอีก หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีขาย – ภาษีซื้อ” โดยผู้ประกอบการขายอาหารจะนำยอดภาษีขายมาหักออกจากภาษีซื้อ

ในทางกลับกัน หากมีภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อก็จะสามารถเลือกขอคืนหรือยกยอดไปใช้ในเดือนต่อ ๆ ไปเพื่อให้เสีย VAT น้อยลงได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเสมอไป เนื่องจากกฎหมายมีข้อยกเว้นว่า

  • หากยอดขายหรือรายรับทั้งปีไม่เกิน 1,800,000 บาทถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม ยังไม่ต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แต่สามารถจดทะเบียนโดยสมัครใจได้)
  • เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้น VAT สามารถค้นหากิจการที่ได้รับการยกเว้น VAT ได้จากเว็บไซต์ https://www.rd.go.th/5206.html ในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการจะผลักภาระภาษีในส่วนนี้ไปให้ผู้บริโภคโดยการรวม (Included VAT) หรือไม่รวม (Excluded VAT) ภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในราคาของสินค้าหรือบริการ หากสังเกตจากเอกสารใบกำกับภาษี (Tax invoice) ที่ได้รับจากการซื้อสินค้าหรือบริการจะมีการระบุไว้ว่ามีการรวม VAT ไว้ในสินค้าหรือบริการนั้นๆ แล้วหรือไม่ 

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ราคาสินค้าหรือบริการ x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท A ขายสินค้าราคา 100 บาท โดยแบ่งเป็นราคาสินค้า 100 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาท และบริษัท A มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะระบุแยกมูลค่าสินค้า/บริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นต้น

หรือเวลาที่เราไปทานร้านอาหารบุฟเฟต์ อาจพบป้ายหน้าร้านปรากฏราคาไว้ 599++ บาทต่อคนราคานี้ยังไม่รวมค่าบริการ (Service charge) เช่น 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% หมายความว่าเมื่อรับประทานและชำระเงิน จะมีราคาอาหารบวกค่าบริการอีก 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นั่นเอง

VAT ทั่วโลกเป็นอย่างไร
ในหลาย ๆ ประเทศอาจมีการเรียกภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าหรือบริการว่าภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST) ซึ่งก็คือภาษีในลักษณะเดียวกับ VAT นั่นเอง และจะเห็นได้ว่าในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วส่วนใหญ่นอกจากจะมีการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในอัตราที่สูงแล้ว ยังมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน  เช่น นอร์เวย์, เดนมาร์ก VAT 25%, สหราชอาณาจักร VAT 20% 

ในไทย VAT ถือเป็นภาษีที่เป็นรายได้หลักอันดับต้น ๆ ของรัฐ โดยเงินภาษีนี้จะถูกนำไปใช้เป็นงบประมาณ เพื่อพัฒนาประเทศและสวัสดิการของประชาชน ปัญหาหลักในการจัดเก็บภาษีของไทย คือจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กระทบต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศ

สำหรับ กลไกการจัดหารายได้เข้ารัฐด้วยการจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ก็มักถูกหยิบยกมาในการเมืองหลายครั้งผ่านการนำเสนอการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งแนวคิดปฏิรูปภาษีของประเทศไทยดังกล่าวนี้ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการออกเป็นกฎหมายใช้บังคับแต่อย่างใด เช่น

  • การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น Financial Transaction Tax (FTT) ที่จะเก็บจากนักลงทุนเมื่อมีการขายหุ้นออกมาไม่ว่าจะขายจะได้กำไรหรือขาดทุน ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 0.11% ของมูลค่าที่ขาย
  • และล่าสุดกับแนวคิดการจัดเก็บ Wealth tax หรือการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งโดยมีหลักการว่าจะเก็บจากผู้ที่มีสินทรัพย์สุทธิ (หักหนี้สิน) เกิน 300 ล้านบาท หากใครมีทรัพย์สินสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกโดยเก็บที่ 0.5%  นั่นคือจะมีภาระภาษี Wealth tax เท่ากับ 1,500,000 บาท

จากนโยบายปฏิรูปภาษีของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นนโยบายใด การจะออกเป็นกฎหมาย เพื่อใช้บังคับก็จำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบโดยรวมของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังต้องดูเรื่องข้อจำกัดในการจัดเก็บรายได้ของประเทศด้วย

ในมุมมองส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจและยังมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติคือเรื่องการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องด้วยประเทศไทยมีการจัดเก็บ VAT ที่มีประสิทธิผลอยู่แล้วและยังถือเป็นภาษีที่รัฐสามารถจัดเก็บได้มากที่สุดประเภทหนึ่ง

หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศจะพบว่ามีบางประเทศก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ VAT อัตราเดียวในทุกประเภทสินค้าและบริการ แต่ใช้การแบ่งอัตราการเก็บ VAT ออกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่เป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันและอัตราสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย

เมื่อพิจารณาถึงหลักการดังกล่าวการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอาจแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ อัตรา 7% ในสินค้าทั่วไปและอัตราที่มากกว่า 7% ในสินค้าฟุ่มเฟือยก็ทำให้รัฐมีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี VAT ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย และยังทำให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บภาษี

หากเม็ดเงินในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น รัฐก็จะสามารถนำมาใช้เป็นงบประมาณ เพื่อสวัสดิการของประชาชน เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มาตรการการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย

โดย: ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการสร้าง  Estate planning and family office ธนาคารไทยพาณิชย์