posttoday

ไทย - ซาอุดีอาระเบีย : หน้าต่างแห่งโอกาสและความท้าทาย

29 กันยายน 2567

ปี 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์การฟื้นความสัมพันธ์ ไทย - ซาอุดีฯ ในรอบกว่า 30 ปี คือจุดเริ่มต้นนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในมิติการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ก่อให้เกิดหน้าต่างแห่งโอกาสและความท้าทายของไทยในอนาคต

นับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ผมมีโอกาสร่วมเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทั้งหมด4 ครั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเดินทางไปยังประเทศที่ไม่คาดคิดมาก่อนและเยอะจนน่าประหลาดใจทีเดียว อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาในการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียทั้งหมด มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกิดขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมตัดสินใจมาเล่าสู่กันฟัง

ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยจะหนีพ้นปรากฏการณ์การฟื้นความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีฯ ในรอบกว่า 30 ปี ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันในการปรับความสัมพันธ์สู่สภาวะปกติ (Normalization) ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงในมิติการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ก่อให้เกิดหน้าต่างแห่งโอกาสและความท้าทายของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังตามมา

ประกอบกับยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน มิติการเมืองและเศรษฐกิจถูกผนวกให้เป็นมิติเดียวกันคือ มิติที่เรียกว่า “เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ (International Political Economy)” 

ผมเห็นว่า ในประเด็นนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับปรากฏการณ์นี้ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุน ซึ่งจะต้องดึงดูดการลงทุนจากซาอุดีฯ มายังประเทศไทย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปลงทุนในซาอุดีฯ

อย่างไรก็ตาม ผมขอแบ่งเรื่องราวของบทความชิ้นนี้ออกไปเป็น  3 ช่วงเวลา เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพฉากทัศน์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

•    ช่วงเวลาแห่งความสับสนและทำความรู้จัก (Let’s get to know)

ในระยะนี้ต้องย้อนกลับไปคราวที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยในฐานะเจ้าภาพและหน่วยงานประสานงานหลักได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายซาอุดีฯ ผมจำได้ว่า ณ ขณะนั้น บีโอไอยังไม่แน่ใจว่าการประชุมดังกล่าวเราจะวางท่าทีอย่างไร และเป็นการประชุมเกี่ยวกับอะไร และ บีโอไอจะช่วยเหลืออะไรหน่วยงานอื่น ๆ ได้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม บีโอไอก็ไม่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมที่ได้รับเชิญมา เนื่องจากเห็นว่าในภาพรวมของประเทศก็เป็นไปเพื่อให้การฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองรัฐบาลดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ปรากฎการณ์ของช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ จึงเรียกว่า “ความสับสน” นั่นเอง

เมื่อเผชิญกับความสับสนที่เกิดขึ้น บีโอไอ รู้ดีว่าในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ เราต้องพยายามทำความรู้จักกับฝ่ายซาอุดีฯ เพื่อให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น โดยการประชุมเมื่อปี 2565 ฝ่ายซาอุดีฯ ได้ยื่นเอกสารมาให้กับผู้แทนบีโอไอหนึ่งฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุนทางตรงระหว่างไทยและซาอุดีฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกสารสารตั้งต้นที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางและความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย

MOU ดังกล่าวทำให้เราทราบถึง สิ่งที่บีโอไอต้องดำเนินการและทราบถึงหน่วยงานพันธมิตรของฝ่ายซาอุดีฯ ที่บีโอไอต้องทำงานด้วยในอนาคต นั่นคือ กระทรวงการลงทุนของซาอุดีอาระเบีย (Ministry of Investment of Saudi Arabia: MISA) ซึ่งรับหน้าที่เป็น “Co-partner” ของบีโอไอ

ดังนั้น หลังจากทราบเพื่อนร่วมงานอย่างชัดเจนแล้ว บีโอไอจึงเดินหน้าแนะนำตัวให้กับเพื่อนร่วมงานทราบว่า เราคือใคร ทำหน้าที่อะไร และจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง รวมถึงวางแผนงานที่จะเดินไปด้วยกัน

กลไกและเครื่องมือในช่วงเวลานี้ ของบีโอไอ คือ การอาศัยเวทีการประชุมสัมมนาใหญ่ ๆ ด้วยกันหลายเวทีในการนำเสนอตัวเอง และประกาศยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ฝ่ายซาอุดีฯ ได้รับรู้ถึงโอกาสในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สามารถร่วมมือกันได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) แม้ว่าความคืบหน้าจะยังมีไม่มากนักแต่ MOU และยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ฝ่ายก็นับว่าการทำความรู้จักที่น่าพอใจ

•    ช่วงเวลาแห่งความร่วมมือ (Let’s get to cooperate)

ในระยะนี้ ผมเห็นว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายคืบหน้าไปมาก โดยเห็นว่าความคืบหน้าดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านกลไกความร่วมมืออย่างสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย (Saudi - Thai Coordination Council: STCC) เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือแห่งอนาคต สภาความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยความร่วมมือ 5 สาขา โดยบีโอไอได้รับมอบหมายเป็นประธานสาขาด้านการลงทุน ทำงานร่วมกับกระทรวงการลงทุนของซาอุดีอาระเบีย (Ministry of Investment of Saudi Arabia) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างร่วมกันอย่างเต็มความสามารถเพื่อยกระดับมิติด้านการลงทุนของทั้งสองประเทศ

ในทัศนะส่วนตัว ผมเห็นว่า มีความเหมาะสมอย่างมากที่จะเร่งผลักดันความร่วมมือ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสะสมจากซาอุดีอาระเบียที่มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท 

สำหรับบีโอไอถือว่ายังเป็นตัวเลขการลงทุนที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับศักยภาพและขนาดเศรษฐกิจรวมถึงขีดความสามารถของภาคเอกชนซาอุดีฯ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้น สภาความร่วมมือซาอุดี - ไทยจะเข้ามาเป็นกลไกในการการเร่งหาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อกำหนดเป็นอุตสาหกรรมนำร่องจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นสมการสำคัญที่บีโอไอต้องหาคำตอบให้เร็วที่สุดเพื่อให้การลงทุนจากฝั่งซาอุเกิดขึ้นจริง 

ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนไทยในซาอุดีฯ คืบหน้าไปมาก เกิดการลงทุนจากฝ่ายไทยกันอาทิ กลุ่ม Minor กลุ่ม SCG กลุ่ม Dusit เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บีโอไอเห็นว่า ยังต้องเร่งขับเคลื่อนการลงทุนต่อไปอีกเพราะการลงทุนจากฝ่าย

ซาอุฯ ในไทยยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนัก นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ในองคาพยพการลงทุนที่ต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการลงทุนของซาอุฯ ประเภทกิจการที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่าง ๆ เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้ผมเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ช่วงเวลาแห่งความร่วมมือ”

•    ช่วงเวลาแห่งอนาคตและความท้าทาย (Let’s get the future and challenges)

หลังจากที่ได้รับหน้าที่เป็นประธานสาขาความร่วมมือด้านการลงทุนเมื่อปี 2566 บีโอไอและ MISA ได้ประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการผ่านระบบออนไลน์เมื่อต้นปี 2567 เพื่อหารือความคืบหน้าด้านการลงทุน  การประชุมใช้เวลาไม่ถึง 2 ชม. ก็ได้ข้อสรุป โดยทั้งฝ่ายเห็นชอบกับ 35 ข้อริเริ่ม (the 35 initiatived - cards) ที่ครอบคลุมกิจกรรมด้านการลงทุนครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม 

การประชุมร่วมในครั้งนี้ บีโอไอและ MISA สามารถออก Summary of Discussion ร่วมกันได้ ก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จของการประชุม และสะท้อนความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในมิติการลงทุน อย่างไรก็ตาม บีโอไอเห็นว่าจำเป็นต้องมี 5  ข้อริเริ่มนำร่องที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมอยู่แล้ว

ประกอบด้วย โอกาสในอุตสาหกรรมฮาลาล อาหารและการเกษตร พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 

ทั้ง 5 ข้อข้างต้น บีโอไอเห็นว่าสามารถนำไปต่อยอดสู่การปฏิบัติจริงและจะส่งผลให้เกิดการลงทุนจากทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมได้ไม่ยากนัก ที่สำคัญคือ ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อดังกล่าว บีโอไอเตรียมที่จะไปนำเสนอต่อผู้บริหารของ MISA ในโอกาสที่บีโอไอจะนำคณะนักลงทุนไปเยือนกรุงริยาดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ต่อมากลางเดือนกรกฎาคม 2567 บีโอไอและคณะนักลงทุนร่วม 100 ชีวิตจากไทยก็ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเรามุ่งมั่นมากว่างานนี้เราต้องได้อะไรกลับไทยบ้างเพราะก่อนการเดินทาง

บีโอไอได้วางกลยุทธ์เอาไว้ 4 ด้าน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการลงทุนตั้งแต่การจัดสัมมนาด้านการลงทุน (Investment Forum) การเจรจาทวิภาคี (Bilateral Meeting) การพบปะนักลงทุนรายบริษัท (One on One Meeting) และการกิจกรรม Business to Business Matching (B2B) ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันกันออกไป 

Investment Forum – เป็นงานสัมมนาที่เรานำเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของประเทศไทย เพื่อจะบอกว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ทิศทางเราเป็นแบบไหน และเราให้อะไรฝ่ายซาอุฯ ได้บ้าง เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นใจว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะไม่ทำให้เขาผิดหวังอย่างแน่นอน

ประเทศไทยเราใช้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นภาพใหญ่ และใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอเป็นเครื่องมือในการชักจูงการลงทุน ในขณะที่ฝ่ายซาอุดีฯ ใช้วิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 เพื่อเป็นวิสัยทัศน์ที่จะสอดประสานกับของไทยได้

นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์แล้ว ภายในงานเรายังประกาศจัดตั้งสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด เป็นสำนักงานแห่งแรกของบีโอไอในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นด้านการลงทุนและเป็นกลไกในการประสานงาน และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนครบวงจร ซึ่งเรามุ่งหวังให้ฝ่ายซาอุดีฯ ทราบถึงความตั้งใจของบีโอไอที่เห็นโอกาสแห่งความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ และเข้ามาใช้บริการสำนักงานแห่งนี้

Bilateral Meeting – เป็นการเจรจาทวิภาคีระดับผู้นำของหน่วยงานรัฐ งานนี้เรามีโอกาสที่ดี เพราะฝ่ายซาอุฯ ตอบรับการเยือนของเรา และได้มอบหมายให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการของ MISA มาร่วมหารือกับเลขาธิการบีโอไอ

แน่นอนว่าครั้งนี้ เรานำเสนอข้อริเริ่ม 5 ข้อ จากทั้งหมด 35 ที่ฝ่ายซาอุ - ไทยนำเสนอร่วมกัน และผลตอบรับก็เหนือความคาดหมายเมื่อเราเห็นตรงกันว่าการลงทุนในสาขายานยนต์ไฟฟ้า อาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นสาขาที่ทั้งคู่จะรับเอามาขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของทั้งสองฝ่าย

One on One Meeting – เป็นการเจรจารายบริษัทกับบริษัทที่เราเห็นว่ามีศักยภาพที่จะร่วมมือกับเราได้ และเราคาดหวังให้บริษัทเหล่านี้ขยายฐานการผลิตมาตั้งฐานในประเทศไทย ซึ่งเราพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้มั่นใจว่าการทำธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยดำเนินไปด้วยความสะดวก การใช้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะไม่เกิดปัญหา 

ตลอดจนความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานที่บริษัทจะได้รับหากเข้ามาลงทุน เราได้พบผู้แทนบริษัททั้งหมด 4 บริษัท ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่เราได้เกริ่นไว้ในการพบกับผู้บริการ MISA ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า ปศุสัตว์ สุขภาพ เกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งผมเห็นว่า จุดนี้ บีโอไอจะสามารถ Connect the Dot กับข้อริเริ่ม 5 ข้อ ให้กลายเป็นอุตสาหกรรม “Quick Win” ในอนาคตได้ 

Business to Business (B2B) – เป็นการพบกันระหว่างภาค “เอกชน - เอกชน” ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เราเห็นว่าน่าจะไปดีและมีโอกาสที่จะเกิดความก้าวหน้าในอนาคต งานนี้ บีโอไอทำหน้าที่ “ประสานงาน” และ “อำนวยความสะดวก” ให้ภาคเอกชนไทยกับซาอุดีฯ ได้พบเจอและพูดคุยกัน ส่วนผลลัพธ์ทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องมาขับสู้กันต่อไปข้างหน้าอยู่แล้ว

แม้ว่า บีโอไอจะใช้กลยุทธ์ทั้ง 4 ด้าน ในการดึงดูดการลงทุนจากซาอุดีฯ อย่างไรก็ตาม เรายังพบประเด็นความท้าทายอีกหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทั้ง วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของสองประเทศ ข้อกำหนดทางกฎหมายของซาอุดีฯ รวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

บีโอไอจะนำความท้าทายเหล่านี้เพื่อหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุง และตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยการนำหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอชนมามีส่วนร่วมในการ Brain Storm สำหรับขับเคลื่อนภารกิจด้านการลงทุนในอนาคตตข้างหน้าต่อไป

มาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการทั้งหลายพอจะมองเห็นโอกาสของตัวเองในการเข้าไปลงทุนในซาอุดีฯ บ้างหรือไม่ครับ หากมองเห็นโอกาสและสนใจไปลงทุนในดินแดนตะวันออกกลาง บีโอไอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของธุรกิจท่าน แล้วพบกันใหม่ครับ

โดย : นายสรรค์สรวง ตันติวิธิเวท นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน

หมายเหตุ : บทความข้างต้นเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแต่อย่างใด