posttoday

ภาษีป้ายกับธุรกิจ SME จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่

30 ตุลาคม 2567

ภาษีป้าย เป็นภาษีท้องถิ่นที่เรียกเก็บจากการติดตั้งป้ายที่แสดงชื่อหรือสัญลักษณ์ของธุรกิจ หากมีการติดตั้งป้ายเพื่อโปรโมทธุรกิจหรือบริการของตนเอง ต้องมีการชำระภาษีป้ายด้วยเช่นกัน โดยภาษีป้ายมีการกำหนดอัตราการจัดเก็บแตกต่างกันไปตามประเภทของป้าย

          เจ้าของธุรกิจ SME หลายคนอาจจะมองข้ามเรื่อง ภาษีป้าย ซึ่งเป็นภาษีท้องถิ่นที่เรียกเก็บจากการติดตั้งป้ายที่แสดงชื่อหรือสัญลักษณ์ของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจ SME (Small and Medium Enterprises) ก็ต้องชำระภาษีป้ายด้วยเช่นกัน หากมีการติดตั้งป้ายเพื่อโปรโมทธุรกิจหรือบริการของตนเอง โดยภาษีป้ายมีการกำหนดอัตราการจัดเก็บแตกต่างกันไปตามประเภทของป้าย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ภาษีป้ายคืออะไร ใครบ้างที่ต้องจ่าย

          ภาษีป้ายคือ ภาษีที่เรียกเก็บจากเจ้าของป้ายหรือผู้ใช้ป้ายที่มีการแสดงข้อความ ภาพ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือการดำเนินงานใดๆ ที่จะนำไปติดตั้งหรือแสดงไว้ในที่สาธารณะ โดยภาษีป้ายนี้ถูกจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. หรือกรุงเทพมหานคร ซึ่งบุคคลหรือหน่วยงานที่ต้องจ่ายภาษีป้าย คือ

          1.เป็นบุคคลหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของป้ายโฆษณา

          2.เป็นผู้ที่ใช้ป้ายเพื่อโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้า บริการ หรือกิจกรรมต่างๆ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายเองก็ตาม

          3.ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากป้าย บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์จากการแสดงป้าย

          ภาษีป้ายจะคิดคำนวณตามขนาดและประเภทของป้าย เช่น ป้ายที่มีอักษรไทย อักษรต่างประเทศ หรือป้ายที่ใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงเนื้อหาของป้ายด้วย เช่น มีชื่อเครื่องหมายการค้า ชื่อธุรกิจ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา

อัตราภาษีป้ายข้อมูลล่าสุดปี 2567

          1.ประเภทที่ 1 ป้ายที่มีข้อความหรือรูปภาพเป็นตัวอักษรไทยล้วน เป็นป้ายที่สามารถเปลี่ยนข้อความและเคลื่อนที่ได้จะถูกคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 10 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร หรือเป็นป้ายที่ไม่สามารถเปลี่ยนข้อความหรือเคลื่อนที่ได้จะถูกคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 5 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

          2.ประเภทที่ 2 ป้ายที่มีข้อความเป็นตัวอักษรไทยผสมกับอักษรต่างประเทศ หรือมีรูปภาพที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสินค้า หรือมีเครื่องหมายอื่นๆ แต่ตัวอักษรไทยต้องอยู่บนสุด 

          โดยป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย ภาพที่เปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย จะถูกคิดอัตราภาษีที่ 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ทั้งนี้ป้ายทั่วไปที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย ภาพที่เปลี่ยนเป็นข้อความ จะถูกคิดอัตราภาษีที่ 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร                                                                                   

          3.ประเภทที่ 3 ป้ายที่มีแต่ข้อความเป็นอักษรต่างประเทศ หรือป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ โดยป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เปลี่ยนเป็นข้อความ จะถูกคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร และ/หรือป้ายที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เปลี่ยนเป็นข้อความ จะถูกคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร

          ทั้งนี้เมื่อคำนวณอัตราภาษีป้ายตามประเภทของป้ายแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการพิจารณาช่วงเวลาที่ป้ายถูกติดตั้ง เพราะการติดตั้งป้ายในแต่ละช่วงเวลาจะส่งผลต่ออัตราภาษีป้ายที่ต้องจ่าย โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาดังนี้

          1.ช่วงเวลาติดตั้งป้ายระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม จะคิดภาษีป้ายอยู่ที่ 100% ของอัตราภาษีป้ายที่คำนวณ

          2.ช่วงเวลาติดตั้งป้ายระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน จะคิดภาษีป้ายอยู่ที่ 75% ของอัตราภาษีป้ายที่คำนวณ

          3.ช่วงเวลาติดตั้งป้ายระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน จะคิดภาษีป้ายอยู่ที่ 50% ของอัตราภาษีป้ายที่คำนวณ

          4.ช่วงเวลาติดตั้งป้ายระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม จะคิดภาษีป้ายอยู่ที่ 25% ของอัตราภาษีป้ายที่คำนวณ (ข้อมูลจาก iTEX)

ลักษณะป้ายแบบไหนที่ธุรกิจ SME ไม่ต้องเสียภาษีป้าย

          การจัดเก็บภาษีป้ายจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 โดยทั่วไปแล้วป้ายที่ธุรกิจ SME ติดตั้งเพื่อโฆษณาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนั้นจะต้องเสียภาษีป้าย แต่มีป้ายบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีป้าย ได้แก่

          1. ป้ายที่ระบุชื่อของบุคคล ที่ใช้ชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อย่อของบุคคลธรรมดา โดยไม่มีชื่อทางธุรกิจหรือกิจการปรากฏอยู่

          2. ป้ายที่ติดอยู่ในอาคารที่พักอาศัยใช้เพียงเพื่อบอกชื่อเจ้าของบ้านโดยไม่มีการโฆษณาใดๆ

          3. ป้ายที่เป็นเครื่องหมายของทางราชการ หรือป้ายที่กำหนดไว้โดยกฎหมาย เช่น ป้ายบอกชื่อหน่วยงานราชการ

          4. ป้ายที่เป็นการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

          5. ป้ายที่กำหนดตามกระทรวง เช่น ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ ถนนหรือรถแทรกเตอร์ 

          6. ป้ายที่มีขนาดเล็กมากๆ ทั้งนี้ต้องตรวจสอบกับกฎหมายท้องถิ่นหรือเทศบาล เพราะอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติม 

          กล่าวโดยสรุป สำหรับภาษีป้ายเป็นภาระของเจ้าของธุรกิจ SME ที่ต้องรับผิดชอบ และควรคำนึงถึงขนาดและเนื้อหาของป้ายเพื่อประเมินภาษีป้ายที่ต้องชำระ ทั้งนี้หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ควรติดต่อกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นหรือสำนักงานเทศบาลที่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีป้ายเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เฉพาะที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting