posttoday

CL"เศรษฐกิจสูงวัย" พลิกวิกฤตสังคมสูงวัย สู่โอกาสใหม่ของไทย

05 เมษายน 2568

เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ทางรอดของสังคมสูงวัยไทย “แก่ก่อนรวย” จะไม่ใช่ทางตัน ถ้ารู้จักเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยกำลังอยู่ในสังคมสูงวัยและจากข้อมูลโครงสร้างของประชากร พบว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมในปี 2013 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ร้อยละ 14.3 มาสู่สัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 20.2 ในปี 2023 ซึ่งถือได้ว่าเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย และในอีก 10 ปีต่อมาจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.5 ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สถานะการเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว


 เมื่อพิจารณาเทียบกับต่างประเทศ จะพบว่า ในปี 2023 สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยที่ร้อยละ 20.2 เทียบเคียงแล้วอยู่ต่ำกว่า ญี่ปุ่น (ร้อยละ 35.6) ยุโรป (ร้อยละ 26.8) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 23.7) แต่อยู่สูงกว่า จีน (ร้อยละ 19.6) สิงค์โปร์ (ร้อยละ 18.5) และมาเลเซีย (ร้อยละ 11.3)


ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยหากเทียบค่าสถิติการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2013 และ 2033 จะพบว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงสูงเป็นอันดับสองที่ ร้อยละ 13.2 เป็นรองแค่ประเทศจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ร้อยละ 14.9 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสูงมาก

CL\"เศรษฐกิจสูงวัย\" พลิกวิกฤตสังคมสูงวัย สู่โอกาสใหม่ของไทย

หมายเหตุ: บทความนี้อาศัยเกณฑ์การประเมินสถานการณ์สังคมสูงวัยของ ซึ่งระบุว่าประเทศจะเป็นสังคมสูงวัยเมื่อมีสัดส่วน

 

ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่ประเทศจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป สูงกว่าร้อยละ 28 ทั้งนี้ ในเกณฑ์การประเมินยังมีการคำนึงถึงสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอีกด้วย (บทความนี้ไม่ได้นำเสนอข้อมูลในส่วนหลังนี้แต่ผลการวิเคราะห์ให้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน)
    

สังคมสูงวัยในบริบทของไทยจะมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่นในปัจจุบันจะเป็นประเทศที่รายได้ระดับสูงแล้ว เรียกได้ว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบ “รวย” ก่อน “แก่” ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งได้เข้ามาเป็นสังคมสูงวัยในช่วงที่ประเทศยังอยู่ในระดับรายได้ปานกลางขั้นสูง จึงเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบ “แก่” ก่อน “รวย”


ในแง่มุมนี้ ทำให้โจทย์ความท้าทายในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมสูงวัยจะไม่สามารถให้น้ำหนักแค่การสนับสนุนการสร้างสินค้าและบริการให้กับผู้สูงอายุที่มีฐานะ มีเงินออมเพื่อเกษียณอายุเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึง 1) การยกระดับความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ และ 2) การดึงเอาศักยภาพของแรงงานไทยและในกลุ่มผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะแข็งแรงขึ้น มีทักษะการทำงานที่สูงขึ้น และยืดอายุค่าเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Healthy Adjusted Life Expectancy: HALE) สามารถทำงานสร้างรายได้ได้ยาวนานมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศที่แก่ก่อนรวยเข้าไปด้วย 


ประเด็นดังกล่าวเป็นโจทย์วิจัยของผู้เขียนที่ได้ดำเนินการภายใต้แนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ซึ่งเป็นความพยายามในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย


ในแง่มุมของการสนับสนุนการสร้างสินค้าและบริการให้กับผู้สูงอายุ ซี่งอาศัยกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องของการแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของตลาดในแง่มุมต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า 


    1) ช่องว่างในเชิงนโยบายที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาผลกระทบจากทั้งภายในและภายนอก (Internalities and externalities) โดยคนไทยบางส่วนยังขาดการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านสุขภาพ คือ มีการบริโภคเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าในระดับที่สูง ขาดการออกกำลังกาย และการขาดเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน และมุ่งเน้นการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ รวมไปถึงภัยคุกคามการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งต้องการนโยบายภาครัฐในการเข้ามาช่วยปรับพฤติกรรมให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงการวางกลไกกำกับดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น


    2) ช่องว่างในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของข้อมูลที่สูง (high information cost) และปัญหาข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน (asymmetric information) เช่น การศึกษาข้อมูลเพื่อลงทุน การแสวงหาข้อเท็จจริงทางด้านสุขภาพ ข้อมูลคุณภาพของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ต่างก็เป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้บริโภค ในขณะที่การเข้าใจความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้สูงอายุ หรือ ของกลุ่ม LGBTQIAN+ เป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ผลิต การปล่อยให้ผู้บริโภค กับผู้ผลิตต้องแสวงหาข้อมูลกันเองจะก่อให้เกิดต้นทุนที่สูง และทำให้ผลลัพธ์ขาดประสิทธิภาพ

 

ดังจะเห็นได้จาก ผลลัพธ์ทางด้านการลงทุนของครัวเรือนบางกลุ่มทำได้ไม่ดีนักเพราะขาดความรู้ทางด้านการเงิน ผู้บริโภคบางส่วนถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากไม่ทราบข้อมูลคุณภาพของสินค้าและบริการที่ชัดเจน รวมไปถึง การขาดผู้ผลิตสินค้าและบริการเนื่องจากการขาดข้อมูลความต้องการสินค้าที่ชัดเจน เป็นต้น ปัญหาในกลุ่มนี้ต้องการภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการสร้างกลไกสนับสนุนแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ทางด้านข้อมูลที่เกิดขึ้น


    3) ปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วนเกิดขึ้นจากภาครัฐเอง ซึ่งมีทั้งภาครัฐเข้ามาสนับสนุนสุราเสรีซึ่งอาจจะเป็นการสนับสนุนบริโภคเกินขนาด การขาดการกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจมีการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคอาจจะต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาด การเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดโดยภาครัฐเข้ามาดำเนินการแทน เช่น โครงการบ้านเพื่อคนไทย ที่แม้ว่าจะมีเจตนาในการให้ประชาชนมีบ้านเช่าราคาถูก แต่ก็เป็นการเข้ามาแข่งขันกับภาคเอกชนที่ให้บริการเช่าที่พักอาศัยอยู่ ตลอดจนการขาดการกำกับดูแล การสนับสนุนผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่มีอยู่ รวมไปถึงที่ควรจะเป็น เช่น การผลักดันเรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ในพื้นที่ภาคเอกชนและรัฐ


    4) ภาครัฐควรจะพิจารณาข้อถกเถียงในเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าและบริการของธุรกิจไทย ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศ ว่าควรจะต้องมีการสนับสนุนสินค้าและบริการหรือไม่ มากน้อยเพียงใด โดยประเด็นในส่วนนี้เป็นข้อถกเถียงในเรื่องของการวางนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้เขียนพบว่าในปัจจบันสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุบางส่วนกำลังถูกครองตลาดโดยธุรกิจต่างประเทศทั้งในรูปแบบของการนำเข้า และที่เข้ามาตั้งธุรกิจในไทย เช่น สินค้าสุขภาพพื้นฐาน (แว่นตา ผ้าอ้อม) สินค้าเทคโนโลยีการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ สินค้าเทคโนโลยีสุขภาพ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทุกสิ่ง (Internet of Things) บริการสถานออกกำลังกาย บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นต้น  


ในแง่มุมของการดึงเอาศักยภาพแรงงานและผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบเศรษฐกิจ ผู้เขียนพบว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีความน่ากังวลใจมาก เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับใกล้เคียงกันกับไทย และประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าอายุเกษียณของประเทศเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 60 ปีสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาในระดับใกล้เคียงกันกับของไทย และ 65 ปีสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และเมื่อพิจารณาแนวโน้มของอายุเกษียณจะพบว่ามีความพยายามในการดันอายุเกษียณให้เพิ่มขึ้น แต่ในกรณีของไทยกลับพบว่าอายุเกษียณของแรงงานไทย แม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้มีการกำหนดอายุเกษียณที่แน่ชัด แต่จากพฤติกรรมของแรงงานพบว่ามีแรงงานในระบบกลุ่มใหญ่ (ยกเว้นข้าราชการ) มีการเกษียณอายุที่ประมาณ 55 ปี ในขณะที่บางกลุ่มอาชีพมีการเกษียณอายุออกก่อน 55 ปีเสียอีก 


ในขณะที่ผู้สูงอายุที่มีงานทำหลังอายุ 60 ปีมีเพียงประมาณ 5 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันประมาณ 13-14 ล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างในการดึงศักยภาพของแรงงานและผู้สูงอายุให้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจรองรับสังคมสูงวัยให้มากยิ่งขึ้


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยในด้านนี้ได้ ประกอบไปด้วย 
การผลักดันแนวคิดเรื่องงานที่ 2 (Second Job) ซึ่งหมายถึงการปรับทัศนคติแรงงานร่วมกับการสร้างกลไกสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนงานที่ยึดหยุ่น มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอาชีพผู้แนะแนวที่ให้คำปรึกษาการเปลี่ยนงานเฉพาะบุคคล คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทักษะการทำงานที่เป็นที่ต้องการในตลาด การให้คำแนะนำเรือ่งการปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาระบบจับคู่งานที่ช่วยพยากรณ์ทิศทางอนาคตและวางยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะยาว ช่วยเชื่อมคนกับตำแหน่งงานที่เหมาะสม และเชื่อมโยงองคาพยพอื่นๆ เข้ามาหนุนเสริม เช่น เงินทุน นวัตกรรม


การสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Re-employment ที่กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องสนับสนุนให้แรงงานที่สูงอายุมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น โดยภาคธุรกิจต้องพิจารณาใช้ความสามารถของแรงงานให้ได้มากที่สุด เช่น ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง/ค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับข้อจำกัดทางด้านอายุ หรือธุรกิจต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อนำมาใช้ฝึกทักษะให้กับแรงงานที่ไม่สามารถทำงานต่อกับธุรกิจเดิมได้ เพื่อให้แรงงานสามารถเรียนรู้และออกไปหางานอื่นได้มากขึ้น


ท้ายที่สุด กลไกในการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ต้องมีการยกระดับการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่สามารถทำงานอย่างแยกส่วนทำงานกันได้ แต่ต้องทำงานแบบสอดประสานกัน ทั้งการยกระดับทักษะแรงงาน การสนับสนุนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การสนับสนุนทางการเงิน การจับคู่ตำแหน่งงาน และสร้างตลาดให้กับสินค้าและบริการ ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆกัน


กล่าวโดยสรุป ปัญหาสังคมสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องสูงวัย แต่คือเรื่องอนาคตของเศรษฐกิจไทย โดยหากรัฐและเอกชนร่วมกันปิดช่องว่างนโยบายและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน จะสามารถแปลงความท้าทายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศได้อย่างแท้จริง
  
บทความเขียนโดย ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI)