อัศจรรย์ภาวนา..เยียวยาใจแนวพุทธหลังการสูญเสีย
“มันช่างอัศจรรย์... ที่จริงที่ผมมาไม่ได้หวังอะไรมากเลย คิดว่าจะไม่ได้อะไร แต่ก็อยากมาเพราะว่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ผมก็คิดว่าคงจะได้อะไรบ้าง
“มันช่างอัศจรรย์... ที่จริงที่ผมมาไม่ได้หวังอะไรมากเลย คิดว่าจะไม่ได้อะไร แต่ก็อยากมาเพราะว่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ผมก็คิดว่าคงจะได้อะไรบ้าง
โดย...พระปณต คุณวุฑฺโฒ
นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
“มันช่างอัศจรรย์... ที่จริงที่ผมมาไม่ได้หวังอะไรมากเลย คิดว่าจะไม่ได้อะไร แต่ก็อยากมาเพราะว่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ผมก็คิดว่าคงจะได้อะไรบ้าง แต่ความเป็นจริงแล้วมันผิดคาดเลย ได้มากกว่าที่คิดเยอะแยะ
แล้วผมก็ต้องยกย่องคนที่คิดมาจริงๆ...ไม่ทราบว่าเป็นเทคนิคอะไรที่ต้องค้นคว้ามาแน่ๆ เลย ความคิดมันรีวายกลับมาชัดเจน ทำให้เห็นละเอียดถี่ถ้วน แปลกจริงๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏ ทำให้ได้เรียนรู้ธรรมชาติ เข้าใจชีวิตดีกว่าเก่า ทำให้เคลียร์ปัญหาได้
แต่ก่อนมันรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แต่วันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ ชัดเจน มันได้ผลเกินคาดนะ ผมได้กำไรหลายพันเปอร์เซ็นต์เลยนะครับ...”
บางช่วงตอนจากคำบอกเล่าของคุณลุง อายุ 73 ปี หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมภาวนาอุทิศกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีวิตและความตาย ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ของผู้เขียน (พระปณต คุณวฑฺโฒ) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
ผู้เขียนขอบอกจุดประสงค์ของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ว่า เป็นการศึกษาหลักพุทธธรรมเพื่อสร้างชุดกิจกรรมที่ผสมผสานการปฏิบัติทางพุทธ ศาสนาเถรวาท ร่วมกับการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาแบบกลุ่ม สำหรับการเยียวยาความเศร้าโศกที่เกิดจากการสูญเสียญาติมิตร
จุดเริ่มต้นของความสนใจทำการศึกษาเรื่องนี้?
ความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับใครหลายคน ไม่เฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง แต่แม้เมื่อมันเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก มันก็ทำให้เกิดความเศร้าโศก และทุกข์ระทมได้อย่างมากมาย
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงกับชีวิตของอาตมาเมื่อก่อนจะได้บวชเรียน และเมื่อบวชเป็นพระแล้ว ก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมญาติโยมที่สูญเสีย หรือกำลังดูแลญาติมิตรผู้เป็นที่รักในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อความสูญเสียที่ใกล้เข้ามา บางคนจมอยู่กับบาดแผลที่น่าเศร้าเสียใจเป็นเวลาหลายปี หรือหลายสิบปี แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ามีทางออกให้กับความทุกข์อันใหญ่หลวงนี้ และควรค่าต่อการพิสูจน์ให้เห็นจริงในรูปแบบของงานวิจัยที่ทันสมัย”
ทำไมจึงต้องมีการผสมผสานพุทธศาสนากับจิตวิทยา?
อาตมาว่า สาขาวิชาชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเวทีของการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้พระและฆราวาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับวิชาการสมัยใหม่ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงและการสอดประสานอย่างสร้างสรรค์
จริงอยู่ว่าองค์ความรู้และกระบวนการในทางพระพุทธศาสนานั้นสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง แต่กระบวนการของจิตวิทยาเชิงพุทธก็มีส่วนเสริมที่จะทำให้การเข้าถึงพุทธธรรมเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกรณีเฉพาะเช่นนี้
ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า พุทธธรรมที่แท้มิได้หมายถึงเพียงการนั่งสมาธิหรือสวดมนต์ แต่การกระทำใดๆ ก็ตามที่นำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ก็คือการปฏิบัติธรรมบนเส้นทางแห่งอริยมรรค
“เราอาจจะนั่งดื่มน้ำชาอย่างมีสติ หรือสนทนาธรรมกับกัลยาณมิตรใต้ต้นไม้ แล้วทำให้เราเข้าใจเงื่อนปมของความทุกข์ในใจเราก็ได้ การศึกษาครั้งนี้จึงใช้หลักไตรสิกขาเป็นแกนกลางของกระบวนการเยียวยาความเศร้าโศก ใช้ธรรมะเกี่ยวกับหลักกรรมและชีวิตหลังความตายตามคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เป็นเนื้อหาของกิจกรรม แล้วนำเสนอในรูปแบบกิจกรรม 4 วัน 3 คืน ที่ผสมผสานการปฏิบัติทางศาสนา เช่น การนั่งสมาธิ เจริญเมตตาภาวนา อุทิศกุศลให้ผู้ล่วงลับร่วมกับกิจกรรมกลุ่มที่น่าสนใจ อาทิ การสนทนากลุ่ม การภาวนาในวงน้ำชา การปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา แม้กระทั่งการชมภาพยนตร์”
มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนเรียกกิจกรรมรูปแบบใหม่นี้ว่า...กิจกรรมภาวนาที่ประหลาด... แปลก... และอัศจรรย์!
อาจเป็นเพราะความแปลกใหม่ หลายคนไปปฏิบัติธรรมหรือภาวนา ที่เน้นการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และงดพูด จึงไม่คุ้นกับการภาวนาที่มีการทำกิจกรรมกลุ่มอย่างหลากหลาย แต่ก็มีเป้าหมายคล้ายๆ กัน คือการเอื้อโอกาสให้ผู้ภาวนาได้มีสติในปัจจุบัน และเข้าใจชีวิตของตนเองอย่างลึกซึ้ง
ผลของกิจกรรมเป็นอย่างไร ลดความเศร้าโศกได้จริงหรือไม่?
ผลการวิจัยพบว่ากิจกรรมเชิงพุทธนี้มีประสิทธิภาพในการเยียวยาได้เป็นอย่างดี กล่าวคือสามารถลดความเศร้าโศกถึงร้อยละ 54.3 ในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม และมีส่วนสร้างเสริมแนวคิดต่อการใช้ชีวิตต่อไปอย่างสร้างสรรค์
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า “ดีมากๆ รู้สึกว่า เราได้เรียนรู้กันว่า ทุกคนมีขยะคือความทุกข์ เศร้าโศก อยู่ในใจ แต่ต่างก็กลบขยะกันเอาไว้ทั้งนั้น พระอาจารย์มาช่วยขุดขยะที่มันเหม็นเน่าทิ้งออกไปจากหัวใจ คือมองกิจกรรมของพระอาจารย์ เหมือนเปิดหัวใจ เพื่อนำขยะออกไป บางคนก็กองเล็ก บางคนก็กองใหญ่ น้องรุ่นเล็กสุดก็เห็นกองขยะเยอะแยะของพวกพี่ๆ นี่เขาก็รู้ว่า พี่เหล่านี้เขาเก็บขยะกันไว้อย่างนี้นี่เอง เขาก็จะรู้วิธีที่จะจัดการ รู้วิธีขจัดทุกข์ และเราก็มีโอกาสได้ทิ้งขยะในใจ ทำให้รู้สึกโล่ง แบบโล่งมากๆ มันเป็นการภาวนาที่แปลก...”
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกท่านหนึ่งเป็นบุคลากรในสถานพยาบาล แสดงความรู้สึกต่อกิจกรรมว่า “กิจกรรมต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เรากลัวตายน้อยลง ความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แล้วก็ไม่ได้เศร้าอย่างที่เคยรู้สึก ก็คือต้องเจอผู้ป่วยใช่มั้ย จะรู้สึกเสียใจ ตกใจ แต่พอได้มาร่วมกิจกรรมก็ทำให้รู้ว่าเราจะมีวิธีที่เราจะรักษาใจของเรายังไง”
นอกจากจะช่วยลดความเศร้าโศกให้แก่ผู้สูญเสียแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสร้างความงอกงามในจิตใจ ทำให้เห็นคุณค่าของชีวิต และแนวทางการใช้ชีวิตตามหลักพุทธธรรมอย่างไม่ประมาท เพราะเห็นความสำคัญของเวลาปัจจุบันก่อนจะถึงวันจากลา ก่อนที่การสูญเสียจะเกิดขึ้น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านหนึ่ง บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมว่า มาเข้าหลักสูตรนี้ ได้เติมเต็มในสิ่งที่ต้องการคำตอบมานานแล้ว เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับขึ้นอยู่กับเจตนา และสิ่งสำคัญที่สุดในการลดกรรม ตัดกรรม คือการเพียรทำความดีอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเราหรือไม่
กิจกรรมดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูญเสียตระหนักในศักยภาพของตนเอง ที่มิได้ถูกจำกัดด้วยความเศร้าโศกเนื่องจากการสูญเสียที่สิ้นหวัง แต่เห็นโอกาส และประจักษ์แก่ตนเองว่าชีวิตมีคุณค่า และมีความหมายที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นบุญ กุศล เกิดความสุข ทั้งแก่ตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักของตน
ผู้ร่วมกิจกรรมอีกท่านหนึ่งเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมในงานวิจัยนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก คิดว่าไม่เป็นกิจกรรมเฉพาะสำหรับคนที่เคยสูญเสีย แต่จริงๆ แล้ว เป็นกิจกรรมสำหรับทุกคน ให้เข้าใจชีวิต เพื่อรู้วิธีใช้ชีวิต พร้อมที่จะอยู่และไปอย่างมีคุณค่า
ประโยชน์ของวิทยานิพนธ์นี้อยู่ตรงไหน
การวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแนวทางในการเยียวยาผู้ประสบการสูญเสียให้เกิดผลดีต่อการบรรเทาความทุกข์และการพัฒนาชีวิต ทั้งในด้านจิตใจและปัญญา และมุ่งหวังว่าผลของการศึกษานี้จะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเยียวยา หลังการสูญเสียอย่างเป็นระบบทั้งในสถานพยาบาล และในชุมชน อันจะนำไปสู่กระบวนการในการพัฒนาศักยภาพทางจิตวิญญาณสำหรับญาติมิตรของผู้ที่จากไป
และหากต่อยอดพัฒนาการเช่นนี้ให้เกิดขึ้นได้ก่อนการสูญเสียก็จะช่วยให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวมมีคุณภาพดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อตัวผู้ป่วยและญาติมิตร
ผู้สนใจสามารถหารายละเอียดของกิจกรรมเพิ่มเติมได้จากที่ใด?
ผู้สูญเสียเศร้าโศกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้
ทั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมภาวนาเพื่ออุทิศกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก (Bhavana for love) ซึ่งเป็นกิจกรรมในงานวิจัยนี้อีกครั้ง ในวันที่ 19-22 ม.ค. 2555 สำหรับผู้ที่เคยสูญเสียญาติมิตร ที่ต้องการร่วมค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต และอุทิศกุศลแด่ผู้ล่วงลับอันเป็นที่รัก สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0811746314 หรือ [email protected]