posttoday

พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม)เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้มักน้อยสันโดษ

12 สิงหาคม 2555

วันที่ 23 ก.ค. 2555 เจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปรับใบแต่งตั้งที่พระอุโบสถวัดจันทาราม

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 23 ก.ค. 2555 เจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปรับใบแต่งตั้งที่พระอุโบสถวัดจันทาราม บางยี่เรือ ในเวลา 14.00 น. ผู้เขียนได้รับเกียรติจากพระครูภัทรกิตติสุนทร (พระมหาแถม) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ แทนเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่มรณภาพ ให้เดินทางไปด้วย

ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ เข้ารับตราตั้งจากพระธรรมสิทธินายก เจ้าคณะ กทม.พร้อมๆ กันมี 4 รูป คือ เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย วัดบำเพ็ญเหนือ มีนบุรี วัดอ่างแก้ว บางแค วัดสุทธิวราราม ยานนาวา และอีกรูปหนึ่ง คือ พระมหาสมัคร มหาวีโร เจ้าอาวาสวัดบางโพโอมาวาส รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงบางซื่อ รวมเป็น 5 รูป

แต่ละรูปให้ผู้ติดตามถือธูปเทียนแพ เพื่อเป็นเครื่องถวายสักการะเจ้าคณะ กทม.เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่กองงานเจ้าคณะ กทม.แจ้งมาก่อนว่าห้ามนำของอย่างอื่น เช่น จตุปัจจัย หรือกระเช้าบรรจุเครื่องไทยทานเป็นต้นมาถวาย และห้ามนิมนต์พระในกองงาน รวมทั้งเจ้าคณะ กทม. ไปสวดชัยมงคลคาถาในพิธีรับ หรือฉลองตราตั้งอีกด้วย

พระสงฆ์ใน กทม.ได้ฟังแต่แรกไม่มีใครเชื่อ เพราะในอดีตนั้นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ในตำแหน่งใดก็ตามต้องมีของไปถวายผู้มีอำนาจแต่งตั้งเสมอ สร้างความอึดอัดให้พระผู้น้อยตลอดมา แต่ไม่มีทางเลี่ยง

ดังนั้น พิธีมอบตราตั้งพระสังฆาธิการ วันที่ 23 ก.ค. 2555 จึงเป็นไปด้วยความเรียบง่าย หลังจากมอบตราตั้งแล้ว เจ้าคณะ กทม. พระธรรมสิทธินายก ได้บอกอำนาจหน้าที่เจ้าอาวาสให้ปฏิบัติ และให้โอวาทเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติอีกหลายข้อ เช่น เรื่องการจัดทำบัญชีรายได้ รายรับของวัดต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าหลงเชื่อและรับของจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีแอบใส่ยาสลบ หลังจากนั้นก็ขนทรัพย์ที่มีอยู่หนีหายไป

พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม)เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้มักน้อยสันโดษ

 

ท่านได้ขอร้องเป็นกรณีพิเศษว่าอย่าตั้งสตรีให้มีอำนาจในวัด หากดีก็ดีไป หากไม่ดีแล้วลำบาก ผู้หญิงก็คือผู้หญิง อาจทำสิ่งที่คาดไม่ถึงก็ได้

ท่านเตือนว่าเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ต้องใส่ใจเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช้าทำวัตรสวดมนต์ อย่าให้บกพร่อง หากเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยไม่สนใจ ไม่ลงทำวัตรสวดมนต์ ลูกวัดก็เพิกเฉย

เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ต้องหมั่นปรึกษาหารือกัน จะได้ไม่เกิดปัญหา หรือกรณีต่างๆ หากทำได้ก็จะเกิดความสามัคคี

สุดท้ายท่านขอให้พระทุกรูปดูแลพระเณรในวัดให้ปฏิบัติตามธรรมวินัย ให้มีศีลาจารวัตรงดงาม ผู้พบเห็นทั้งในท้องถิ่น หรือต่างถิ่นจะได้ศรัทธาเลื่อมใส

ประวัติย่อ

พระธรรมสิทธินายก เจ้าคณะ กทม. นามเดิม เฉลิม นามสกุล ฉ่ำอินทร์ เกิดวันที่ 18 ก.พ. 2476 ที่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 12 ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร อาชีพเกษตรกรรม อุปสมบทเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2498 อายุ 22 ปี ที่วัดหาดมูลกระบือ ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร หลังจากเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี

การศึกษา สอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดท่าหลวง จ.พิจิตร และสอบได้ ป.ธ. 4 เมื่อปีพ.ศ. 2504

เมื่อย้ายมาอยู่วัดจันทารามที่หลวงลุงเป็นเจ้าอาวาส เพื่อศึกษาต่อ ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2506เรียนจบปี พ.ศ. 2515 ผู้ที่เรียนรุ่นเดียวกันเช่นพล.ต.ทองขาว พ่วงรอดพันธ์ เป็นต้น หลังจากได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว จึงสอบเปรียญธรรม 5 ประโยคได้เมื่อปี พ.ศ. 2517

ท่านได้รับความไว้วางใจจากเจ้าอาวาสวัดจันทาราม ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการวัด เป็นกรรมการตรวจสอบบัญชีรับจ่ายของวัด เป็นครูสอนปริยัติธรรม

จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจันทาราม เมื่อ พ.ศ. 2514 และเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทาราม พ.ศ. 2527 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2531 เป็นเจ้าคณะแขวงบางยี่เรือ พ.ศ. 2537 และเป็นเจ้าคณะเขตธนบุรี พ.ศ. 2543

เป็นรองเจ้าคณะ กทม. พ.ศ. 2547 และเป็นเจ้าคณะ กทม. พ.ศ. 2554

วันที่ 18 ก.พ. 2556 หรือ (อีก 6 เดือนนับแต่เดือน ส.ค. 2555) ท่านจะมีอายุ 80 ปี ตามกฎมหาเถรสมาคม ท่านจะต้องเกษียณอายุจากการเป็นเจ้าคณะ กทม.

พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม)เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้มักน้อยสันโดษ

รูปแรกของ มจร

ท่านเล่าถึงประวัติการดำรงตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ระดับสูงในฐานะเจ้าคณะ กทม. ว่า ท่านเป็นพระเถระรูปแรกทางฝั่งธนบุรี ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดนี้ หลังจากรวมการบริหารจังหวัดกรุงเทพกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เป็นกรุงเทพมหานคร และเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปแรกที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ กทม.เช่นกัน

ในความเป็นผู้มักน้อย ไม่ใฝ่สูง ท่านเคยหลีกเลี่ยงที่จะรับตำแหน่งรองเจ้าคณะ กทม. เมื่อมีการทาบทาม โดยอ้างว่าไม่พร้อม และเพื่อให้สมเหตุสมผล จึงให้หมอที่รู้จักกันแอดมิต เข้านอนโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วย แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ต่อจากนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม) วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง (มรณภาพแล้ว)มีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงเป็นรองเจ้าคณะ กทม. เมื่อ พ.ศ. 2547

เมื่อพระธรรมสุธี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เกษียณอายุ (อายุ 80 ปี) เมื่อเดือน ต.ค. 2553ท่านจึงรักษาการเจ้าคณะ กทม. ในระยะเวลาสั้นๆ เจ้าคณะภาค 1 พระพรหมโมลี ตอนนั้น หรือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ตอนนี้ เสนอให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ กทม.จึงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ กทม. เมื่อวันที่ 18มี.ค. 2554

ในฐานะเจ้าคณะ กทม. ท่านทำตัวง่ายๆ ยินดีแก้ปัญหา มากกว่าสร้างปัญหา อีกทั้งมีมาตรการช่วยเหลือพระสังฆาธิการใน กทม.ในหลายรูปแบบที่เด่นๆ คือ สวัสดิการช่วยงานศพ พระสังฆาธิการที่มรณภาพ โดยขอความร่วมมือจากเจ้าอาวาสใน กทม. ให้ช่วยงานศพละ 1,000 บาท และผ้าไตร 1 ไตร หรือจะให้มากกว่านั้นก็ได้

เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม มรณภาพ ได้ปัจจัยช่วยทั้งหมดประมาณ 8 แสนบาท เมื่อพระเทพวิสุทธิโมลี (อุทัย) วัดพระพิเรนทร์ มรณภาพ ได้ปัจจัยช่วยเหลือประมาณ 3 แสนบาท เช่นเดียวกับพระครูวัดอ่างแก้ว ที่มรณภาพไล่เลี่ยกัน ก็ได้รับการช่วยเหลือประมาณ 2.5 แสนบาท

เตือนพระและโยม

ในช่วงที่พระเถระทำวัตรพระเถระด้วยกันตามธรรมเนียม หลังจากเข้าพรรษา 1 วัน เมื่อวันที่ 6 ส.ค.นั้น ท่านมอบหนังสือที่ท่านรวบรวม เรียบเรียง เรื่องพระใหม่หัวใจพุทธ สำหรับใช้สอนพระบวชใหม่ ให้แก่พระที่ไปถวายสักการะทุกรูป

เรื่องที่พิมพ์ในหนังสือเล่มบางๆ มีหลายเรื่องตั้งแต่พุทธประวัติ ศาสนพิธี บุคลิกสร้างศรัทธาน่าเลื่อมใส หลักมนุษยสัมพันธ์ของชาวพุทธตามธรรมทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อานิสงส์การสวดมนต์ ล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น

บางเรื่องท่านเขียนให้พระภิกษุรู้จักวางตัวเมื่อโยมมาพบ รวมทั้งเรื่องการแต่งกายของโยมผู้หญิงที่ไปพบพระ ท่านเรียกข้อนี้ว่า ข้อปฏิบัติพระภิกษุสามเณรเมื่อญาติโยม (สีกา) มาหาที่วัด

พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม)เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้มักน้อยสันโดษ

 

ท่านเขียนแนะนำให้พระใหม่ระมัดระวังสำรวม ห่มจีวรให้เรียบร้อย อย่านั่งหรืออยู่ใกล้กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตา คนเขาจะนินทาเอาได้ อีกทั้งผิดวินัยสงฆ์อีกด้วย

ได้เขียนแนะนำสีกาว่า เมื่อมาหาพระต้องแต่งกายให้เรียบร้อย สุภาพ รัดกุม อย่าแต่งตัวแบบสายเดี่ยว กระโปรงสั้น เข้ามาหาพระ เพราะนอกจากจะเป็นการไม่สมควรแล้ว ยังเป็นบาปอีกด้วย เพราะทำให้ใจพระเกิดกำเริบ (เกิดราคะ) เมื่อได้เห็น

ฝ่ายพระเองก็พึงสำรวมตาเอาไว้ให้ดี ไม่มองได้ก็อย่าไปมอง เพราะถ้าขืนไปมองมากๆ แล้วก็จะทำอันตรายแก่จิตใจเอาได้ คือทำให้จิตใจกำเริบด้วยกามราคะ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายสำหรับพระใหม่อย่างที่สุด (หรือแม้พระเก่าก็เช่นกัน)

ในฐานะนักบริหาร ท่านเขียนหลักการบริหารตามหลัก ทศพิธบารมี ให้ทุกคนนำไปปฏิบัติ คือโอบอ้อมอารี (ทานบารมี) มีระเบียบวินัย (ศีลบารมี) ผลักไสความชั่ว (เนกขัมมะบารมี) ครองตัวด้วยปัญญา (ปัญญาบารมี) กล้าหาญ (วิริยะบารมี) อดทน (ขันติบารมี) มุ่งมั่น (สัจจะบารมี) มีน้ำใจไมตรี (เมตตาบารมี) และมีความเป็นกลาง (อุเบกขาบารมี)

พระธรรมสิทธินายกสรุปว่าหลักเหล่านี้เป็นหลักบริหาร และหลักพัฒนาตนของพระโพธิสัตว์มุ่งสู่ความเป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง

พระเถระที่มักน้อย มีวิสัยทัศน์ มีปฏิปทาเรียบง่ายแบบนี้ไม่น่าจะเกษียณอายุ เพราะพระในปกครองอยู่อย่างมีความสุข เป็นผู้นำที่ผู้เข้าใกล้มีความสุข ไม่เดือดร้อน สมกับที่ท่านเป็นพระเถระที่สันโดษ สอนคนอื่นอย่างไร ปฏิบัติอย่างนั้น