posttoday

หลวงปู่ไดโนเสาร์

11 สิงหาคม 2556

เมื่อครั้ง อดีตพระมิตซูโอะ คเวสโก สึกแล้วบินไปต่างประเทศเป็นข่าวครึกโครมสั่นสะเทือนไปทั้งวงการพุทธศาสนานั้น

เมื่อครั้ง อดีตพระมิตซูโอะ คเวสโก สึกแล้วบินไปต่างประเทศเป็นข่าวครึกโครมสั่นสะเทือนไปทั้งวงการพุทธศาสนานั้น มีผู้โพสต์กระทู้ชิ้นหนึ่งซึ่งต่อมาได้มีพุทธศาสนิกชนได้นำไปเผยแผ่กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการให้สติ และให้หลักคิด หลักพิจารณาแก่พุทธศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี

กระทู้นั้นเป็นคำสนทนาระหว่าง พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร) หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ วัดสักกะวัน ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ อายุ 87 พรรษา 66 กับ พระอุปัฏฐาก มีความดังนี้

หลวงปู่ไดโนเสาร์ : ครูบา อาจารย์มิตซูโอะ เป็นใคร

ครูบาอุปัฏฐาก : เป็นหยังครับผม องค์พ่อแม่ถามทำไมครับผม

หลวงปู่ไดโนเสาร์ : ก็เมื่อเช้าเห็นโยมในศาลามาเล่าให้ฟัง ผมก็อือๆ นอไปกับเขา แต่ผมไม่รู้เรื่องนี้

ครูบาอุปัฏฐาก : โอ๋ ขอโอกาสกราบเรียนองค์พ่อแม่ ท่านอาจารย์มิตซูโอะ ท่านเป็นคนญี่ปุ่นที่มาเรียกกรรมฐานในสายพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง บวชมา 30 กว่าปีแล้ว ท่านก็สึกกลับบ้านท่านที่ญี่ปุ่น เมื่อเช้าแม่ออกมาบอกว่าท่านสึกไปมีเมียที่ญี่ปุ่นครับผม

หลวงปู่ไดโนเสาร์ : โอ๋ มันก็ดีแล้วนี่ แล้วเอามาเล่ากันทำไม

ครูบาอุปัฏฐาก : ขอโอกาสองค์พ่อแม่ ดียังไงครับผม พระกรรมฐานบวชมา 30 กว่าปีแล้วมาสึกไปมีเมีย

หลวงปู่ไดโนเสาร์ : โอ้ย ญาท่านสีทนศาลาพันห้อง นั้น สึกตอนอายุ 92 ไปเอาเมียอายุ 16 นี่ผมก็ยังไม่ถึง 92 เด้อ (พูดแล้วท่านก็หัวเราะ)

คนบวชคนสึกมันเป็นธรรมดาโลก บางคนบวชมานานกว่าท่านอาจารย์มิตซูโอะก็ยังสึก ท่านอาจารย์หนูใหญ่ศิษย์หลวงปู่มั่น นั่งภาวนาได้ฌานได้ญาณเห็นนู้นเห็นนี่ ท่านก็ยังสึก พระอริยคุณาธาร ขอนแก่น ท่านก็สึก ในวงพระกรรมฐานเราก็มีให้เห็นอยู่ ไม่แปลกดอก

ถ้าเรายังไม่แน่นอนในพระสัทธรรมมันก็มีโอกาสสึกกันทุกคน

เพิ่นสึกออกไปหน่ะดีแล้ว ถ้าวิบากกรรมที่แก้เป็นพระไม่ได้ มันต้องสึกออกไปแก้ก็ต้องตามไปแก้มัน คุณเอ้ย คนสึกก็ใช่ว่าจะเสียหาย ใช่ว่าจะเลวไปซะหมด คนอยู่ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์ ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด หยังกำลังว่าสู้ไม่ไหวก็สึกออกไปนั้นถึงจะเป็นการที่น่ายกย่อง มาสู้ทนหลอกชาวบ้านเป็นมหาโจรอยู่มันก็ตกนรกนั้นแหล่ว คนที่ทำกรรมฐานมาตั้ง 30 ปี เพิ่นบ่ได้ปึกได้โง่เด้อ เพิ่นคิดเพิ่นตัดสินใจแสดงว่ากำลังของกรรมฐานที่สั่งสมมาประคับประคองอยู่ การที่เพิ่นตัดสินใจถือว่าคิดดีแล้วในแนวของเพิ่น ที่เอามาว่ามานินทากันนั้นเพราะมันขัดใจเรา มันเข้ากิเลสเรา ว่ากันคะนองปาก

คุณเอ้ย เล่นกันพระเหมือนเล่นกับไฟ ว่าเพิ่นชั่ว ถ้าเพิ่นชั่วเราไม่ได้บุญนะ เราเท่าตัว ว่าเพิ่นชั่ว เพิ่นบ่ได้ชั่วเราเป็นบาปเราขาดทุน ว่าเพิ่นแล้วมีแต่เท่าทุนกับขาดทุน หากำไรไม่ได้ ลงทุนแบบนี้ไม่งอกไม่เงยนะ เอาใจไปคิดเรื่องคนอื่นมันก็ทุกข์เรื่องคนอื่น แต่เอาใจมาไว้กับสติมาไว้กับเรานี้มันบ่ทุกข์มันมีแต่กำไร เพิ่นไปดีแล้วก็แล้วกันไป คุณเอ้ย ทุกคนหันหน้าเดินไปหาพระนิพพานกันหมดนั้นล่ะ ถึงช้าถึงเร็วขึ้นอยู่กับเราเดินกับเราลงทุนดอก มาพบพระพุทธเจ้า พบพระธรรมคำสั่งสอน พบครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์แล้ว อย่าให้ขาดทุนเด้อให้เอากำไรจากเพิ่นเด้อ

ศิษย์หลวงปู่ไดโนเสาร์ได้เผยแผ่คำถามตอบสั้นๆ แต่อุดมธรรมเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์ ทั้งทางเว็บและเฟซบุ๊ก ทำให้มีผู้สนใจติดตามจำนวนมาก

แล้ว หลวงปู่ไดโนเสาร์ ท่านเป็นใครมาจากไหน?

พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร) หรือ หลวงปู่ไดโนเสาร์ เป็นพระธรรมยุติ ซึ่งถ้าพูดภาษาโลกๆ บ้านๆ ก็ต้องว่า เป็นหลานศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ตามประวัติที่เผยแผ่กันนั้น ก่อนบวชเดิมท่านชื่อ หา เกิดในครอบครัว ภูบุตตะ เป็นบุตรของ นายสอ และนางบัวลา ภูบุตตะ เกิดเมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีฉลู หรือวันศุกร์ที่ 2 เดือน ก.ค. ปี พ.ศ. 2468 ที่บ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีพี่น้องรวม 7 คน

ครอบครัวของท่านมิได้เป็นคนกาฬสินธุ์โดยกำเนิด หากแต่อพยพมาจาก จ.อุบลราชธานี มาปักหลักทำไร่ทำนาจนมีฐานะ

ตัวท่านเองนั้นในสมัยเป็นเด็กหนุ่มนอกจากจะมีความสามารถในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวได้ตามประสาลูกชาวไร่ชาวนาแล้ว ยังเป็นนักมวยอีกต่างหาก แต่ไม่อาจจะเติบโตไปตามเส้นทางนี้ได้เพราะโยมบิดาห้ามค้ากำปั้น ท่านครองชีวิตอยู่ในโลกฆราวาสได้เพียง 19 ปี ก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงออกบวชขณะอายุ 19 ปี ที่วัดสุวรรณชัยศรี จ.กาฬสินธุ์ นั่นเอง

ปีรุ่งขึ้นก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในยุคนั้นยังไม่มีการแยกการทำสังฆกรรมกันเด็ดขาดระหว่างคณะธรรมยุติและคณะมหานิกาย พระอุปัชฌาย์ของท่านจึงเป็นคณะมหานิกาย ขณะที่พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์เป็นธรรมยุติกนิกาย ต่อมาในวันที่ 21 ก.พ. 2490 ท่านได้ญัตติเป็นคณะธรรมยุติอีกครั้งหนึ่ง ที่พัทธสีมาวัดสุวรรณชัยศรี จ.กาฬสินธุ์ โดยมี พระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อ่อน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่สุข เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้ฉายาว่า สุภโร แปลว่า ผู้เลี้ยงง่าย

ขณะจำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรีนั้นเองท่านก็สอบได้นักธรรมตรี โท เอก จากนั้นถึงเข้า กทม.ไปพำนักที่วัดนรนาถสุนทริการามกับ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต) ระหว่างนั้นก็ไปศึกษากรรมฐานจาก พระครูญาณวิริยะ ซึ่งปัจจุบันคือ พระธรรมมงคลญาณ หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล และ พระสุทธิธรรมรังสี หรือ ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ แต่เส้นทางคู่ขนานของการศึกษาภาษาบาลีกับกรรมฐานต้องหยุดลงเมื่อโรคดีซ่านกำเริบจนท่านต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัว

การเจ็บป่วยครั้งนั้นเป็นจุดหักเหที่สำคัญ เพราะขณะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงฆ์นานราว 3 เดือนนั้น ท่านได้ปลงใจว่า ใจใช้ชีวิตในร่มผ้ากาสาวพัสตร์จนกว่าชีวิตจะหาไม่

หลังมาพักรักษาตัวที่ภูมิลำเนาจนหายขาดแล้ว ได้ออกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ รวมทั้งไปฝากตัวศึกษาปฏิบัติในสำนักพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูป ซึ่งทั้งหมดก็เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาทิ พระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธัมมรักขิตโต) วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ พระครูประสิทธิ์สมณญาณ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร พระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสิปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้ง หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี จ.ร้อยเอ็ด

ต่อมาท่านได้รับภาระพระศาสนาทั้งด้านการบริหาร การศึกษาและการปฏิบัติ กล่าวคือเป็นพระฐานานุกรมในพระสุธรรมคณาจารย์ที่พระสมุห์หา สุภโร เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมชั้น เอก โท ตรี เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวงในคณะธรรมยุติภาคอีสาน เป็นเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ท่าคันโทกุฉินารายณ์ เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) กระทั่งอายุ 80 ปี จึงเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระญาณวิสาลเถร

ก่อนจะมาตั้งวัดสักกะวัน ณ บริเวณซึ่งเรียกว่า ภูกุ้มข้าว ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ ในปัจจุบันนั้น หลวงปู่ท่านเคยตั้งวัดชื่อ “วัดป่าสักกะวัน” ที่บ้านคำคา อ.สหัสขันธ์ แต่ในปี 2501 รัฐบาลได้สร้างเขื่อนลำปาว และวัดดังกล่าวอยู่ในเขตน้ำท่วม นายอำเภอสหัสขันธ์จึงนิมนต์ท่านนั่งรถตระเวนไปเลือกพื้นที่สร้างวัดใหม่ กระทั่งมาถึงภูกุ้มข้าว ท่านจึงลงมาสำรวจและเลือกเอาบริเวณนี้เป็นที่ตั้งวัดใหม่ในนามเดิม

เหตุที่ท่านเลือกเอาบริเวณนี้ทั้งๆ ที่เป็นที่กันดารไม่มีตาน้ำ และไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีแต่ต้นไผ่ขนาดเล็ก เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน มีความสัปปายะ แต่ในกาลต่อมาภูกุ้มข้าวก็โด่งดังไปทั่วโลก และแม้แต่ชื่อของท่านซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงปู่หรือหลวงตาสา ก็ถูกเปลี่ยนแปลง

เหตุเกิดจากวันหนึ่งในปี 2534 ขณะนั่งสมาธิอยู่บนยอดภูกุ้มข้าวนั้น เกิดนิมิตโอภาส มีแสงสว่างทั่วโลกธาตุ แล้วมีสัตว์ขนาดใหญ่ คอยาว เดินกินยอไม้ กินน้ำอยู่ที่ภูกุ้มข้าว สัตว์นั้นแสดงให้เห็นถึงการกินการอยู่แล้วก็ล้มตายลง

ท่านมักจะเข้าสมาธิครั้งหนึ่งนานหลายๆ วันที่บนยอดภูกุ้มข้าว และในปี 2534 นั้นก็เกิดนิมิตเช่นว่าซ้ำๆ อยู่ 23 ครั้ง และเกิดอีกในปี 2536-2537

ครั้งสุดท้ายในปี 2537 นั้น พอเห็นสัตว์ที่ว่าล้มตายลงแล้ว ก็มีเสียงขึ้นว่า “จะมาขออยู่ด้วย เตรียมตัวไว้พรุ่งนี้จะมีฝนมาจากทิศอุดรห่าใหญ่ จะมากับฝน”

หนนั้นท่านเข้าสมาธิอยู่เพียง 3 วันก็ออกจากที่แล้วลงมาสั่งให้พระเณรเก็บข้าวของต่างๆ ไว้บนกุฏิ

พอเที่ยงฝนเริ่มตั้งเค้า แล้วก็เทลงมา พอท่านกางร่มเดินออกไปตรวจดูโดยรอบ ฝนก็กระพือจนร่มหักเหลือแต่ด้าม ฟ้ามืดฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ท่านนั่งลงภาวนาบริเวณที่เห็นในนิมิตว่า สัตว์นั้นตาย

ฝนหนัก 3 ชั่วโมงได้เซาะเอาหน้าดินออก ชิ้นกระดูกขนาดใหญ่หลายสิบชิ้นโผล่ออกมาจากใต้ดิน

ท่านสั่งให้คนไปแจ้งนายอำเภอซึ่งส่งข่าวต่อไปยังศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

จากการตรวจสอบพบว่ามันคือซากไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ใหญ่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา และได้รับการขนานนามเทิดพระเกียรติในเวลาต่อมาว่า อีสานโนซอรัส สิรินธรเน

หลวงปู่ได้ชี้จุดให้เจ้าหน้าที่ขุดค้นตามที่ท่านเห็นในนิมิตทำให้พบซากไดโนเสาร์อีกหลายตัว

ต่อมามีการตั้งชื่ออาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ตรงนั้นว่า “อาคารหลุมขุดค้นไดโนเสาร์พระญาณวิสาลเถร” อันเนื่องจากท่านเป็นค้นพบครั้งแรก

เมื่อมีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปีขึ้นที่นั่นก็ได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ขณะที่ใครต่อใครก็เลิกเรียกหาท่านในนามเดิมคือ หลวงปู่ หลวงตาสา มาเรียกในนามใหม่ว่า “หลวงปู่ไดโนเสาร์”

ท่านพบซากไดโนเสาร์อันเป็นการเผยประวัติศาสตร์สำคัญของภูกุ้มข้าวและประเทศไทย แต่ก็มีคนพบว่า เกศา เล็บ ฯลฯ ของท่านเองก็เป็นพระธาตุ เมื่อมาสักการะท่านจึงได้เอ่ยปากขอเกศาท่านบ้าง บางคราวก็มีคนมาขอซากไดโนเสาร์ไปทำพระซึ่งท่านก็ได้เทศน์ให้สติ พิจารณา ให้เกิดปัญญาดังนี้