posttoday

วัดประยุรวงศาวาส ฉลองรางวัลยูเนสโก

27 เมษายน 2557

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย เมื่อองค์การยูเนสโก

โดย...สมาน สุดโต

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย เมื่อองค์การยูเนสโกได้มอบรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ปี 2556 ให้วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่สามารถบูรณะพระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ได้ยอดเยี่ยม

ทางวัดจัดพิธีรับมอบรางวัลอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 ในเวลาแดดร่มลมตก (17.30 น.) ท่ามกลางพระสงฆ์ นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งมาแทนผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่ติดภารกิจด่วน

และคฤหัสถ์ นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี

วัดประยุรวงศาวาส ฉลองรางวัลยูเนสโก

 

บูรณะ 6 ปี

พิธีมอบรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ยูเนสโก ให้กับวัดประยุรวงศาวาส ดำเนินการหลังจากพิธีทางศาสนา และพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวถึงประวัติของวัดและการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ที่มีสถาปัตยกรรมโครงสร้างที่ยอดเยี่ยม บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของชาวไทยในอดีต ว่า

พ.ศ. 2549 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ใช้เวลาดำเนินการ 6 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2554 สิ้นงบประมาณ 38 ล้านบาทเศษ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ชุมชนรอบวัดที่เรียกว่า ชุมชนย่านกะดีจีน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ จนได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยามให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดอาราม และได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศมอบรางวัลด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1

วัดประยุรวงศาวาส ฉลองรางวัลยูเนสโก

 

วัดสร้างโดยสกุลบุนนาค

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่สมเด็จพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาคลัง ว่าที่กรมท่าและพระสมุหกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2371 และได้ถวายเป็นอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” จนถึงปัจจุบันมีอายุกว่า 186 ปี สำหรับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีสัณฐานรูประฆังคว่ำ ความสูง 60.525 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร นับว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ และสูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ ชั้นนอกล้อมรอบด้วยระเบียงคดรูปวงกลม ทำเป็นคูหา 54 คูหา ด้านบนของระเบียงคดมีเจดีย์บริวาร 18 องค์ ถัดมาเป็นชานชั้นใน รอบพระเจดีย์องค์ใหญ่กว้าง 5 เมตร เริ่มสร้างพร้อมกับวัดเมื่อ พ.ศ. 2371 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2428 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบริเวณวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารทั้งวัดเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2492

สมเด็จอนุโมทนา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ในนามผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อนุโมทนาว่า “วันนี้เป็นวันที่น่าชื่นชมยินดีของวงการคณะสงฆ์ไทยและศรัทธาสาธุชนทุกท่าน ขออนุโมทนากับคณะสงฆ์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งมีเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต เป็นเจ้าอาวาส ในโอกาสที่โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทร์ปริยัติธรรมศาลา ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จากองค์การยูเนสโก นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่วงการคณะสงฆ์ไทย พระพุทธศาสนา และประเทศไทยอีกด้วย”

วัดประยุรวงศาวาส ฉลองรางวัลยูเนสโก

 

ชื่นชมยินดี

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะประธานฝ่ายฆราวาส กล่าวเพิ่มเติมว่า “รางวัลนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่มีอย่างมากมาย ไม่เพียงแต่เพื่อเป็นการเก็บรักษามรดกทางพุทธศาสนาในประเทศไทยเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังเป็นการปกป้องชุมชนบริเวณโดยรอบ และแกนของประวัติศาสตร์ที่มีภูมิทัศน์ตั้งอยู่ตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา ในขณะที่กรุงเทพฯ ยังคงมีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การปกป้องสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดที่เคยมีมา ในโครงการนี้เราได้เห็นวิธีการและทักษะทางวิศวกรรมต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่เก็บรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์นั้นไว้ไม่ให้เสียหายแล้ว หากแต่ยังเป็นการนำให้วัดได้กลับคืนมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงได้มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวม ในฐานะที่เป็นชุมชนเมืองที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์”

วัดประยุรวงศาวาส ฉลองรางวัลยูเนสโก

 

ในขณะที่ ดร.กวาง โจ คิม ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึงการพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ไว้ว่า “โครงการนี้ส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาทางสังคมในย่านกะดีจีน ย่านประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน ขณะที่ยังคงรูปลักษณ์ภายนอกของเจดีย์ที่ทรุดเอียงนี้ การบูรณะซ่อมแซมที่บูรณาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิถีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมได้สื่อสารขนบโบราณและสุนทรีย์แห่งยุคเก่า ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญและชาวชุมชนเป็นนิยามของความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชนในศตวรรษที่ 21 ในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจชองชุมชนตราบจนถึงทุกวันนี้”

“นับตั้งแต่เริ่มมีการมอบรางวัลยูเนสโกเอเชียแปซิฟิกเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม พบว่ามีโครงการของไทย 11 โครงการ ที่ได้รับรางวัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าโดยรวมที่มีการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย โครงการที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อการอนุรักษ์ทั้งในและละแวกชุมชนใกล้เคียงในระดับภูมิภาคหรือระดับชาติ” ดร.กวาง โจ คิม กล่าวปิดท้าย

งานวัฒนธรรมชุมชน

เมื่อได้รับรางวัลยอดเยี่ยมเช่นนี้ ทางวัดจึงจัดงานสมโภช 4 วัน 4 คืน ซึ่งมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน กล่าวว่า เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ มูลนิธิจึงให้การสนับสนุนการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 23-26 เม.ย. 2557 โดยปรับพื้นที่วัดให้เป็นกลายเป็นเพลินวันวาน หรือตลาดโบราณ ผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนรอบวัด หรือชุมชนกะดีจีน โดยออกร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นของดีและดังในพื้นที่ พร้อมทั้งการแสดงต่างๆ เพื่อสืบสานวัฒนธรรม

ไกด์กิตติมศักดิ์

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีบนเวที พระพรหมบัณฑิตได้เป็นไกด์กิตติมศักดิ์นำแขกผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ชมสถาปัตยกรรมโครงสร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาอันสูงส่งของไทย ที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือ การทอนน้ำหนักขององค์เจดีย์โดยสร้างภายในเจดีย์โปร่ง หรือเป็นโพรง ใช้เสาแกนกลางค้ำใต้บัลลังก์องค์พระเจดีย์ และใช้ไม้ซุงพาดตามระดับต่างๆ ผ่านเสาแกนกลางเพื่อใช้สำหรับเดินและลำเลียงวัสดุ การสร้างแบบนี้รักษาพระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส ให้ยืนยงโดยไม่มีปัญหาน่าวิตกเรื่องน้ำหนัก (เกิน) แม้ว่าเสาแกนกลางจะหักไป ก็แค่ทำให้โครงสร้างเสียศูนย์ไปบ้างเท่านั้น

การบูรณปฏิสังขรณ์จนได้รับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชั้นเยี่ยมจากยูเนสโก เป็นผลงานสำรวจของภาควิชาวิศวกรรมโยธา แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรับเหมางานบูรณปฏิสังขรณ์ โดยบริษัท ศิวกรการช่าง ซึ่งพระพรหมบัณฑิตคาดว่าพระบรมธาตุมหาเจดีย์ จะยืนยงอยู่คู่วัดชั่วกัลปาวสาน