posttoday

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล.

21 พฤศจิกายน 2553

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่องานพระพุทธศาสนา

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่องานพระพุทธศาสนา

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อมีการประชุมชาวพุทธทั่วโลกที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เพื่อเฉลิมฉลอง 60 ปี การก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) วันที่ 14-16 พ.ย. 2553 ผมนึกถึงสตรีชาวไทยผู้หนึ่งที่เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานองค์การแห่งนี้ ท่านคือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่องานพระพุทธศาสนา

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2493 ผู้แทนประเทศต่างๆ จากทั่วโลกที่เป็นชาวพุทธ 30 ประเทศ ประชุมที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เพื่อก่อตั้งองค์การของชาวพุทธ ทุกนิกายที่กระจัดกระจายในประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมี หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ในฐานะผู้แทนชาวไทยเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ก่อตั้งด้วยพระองค์หนึ่ง

ต่อมาท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การนี้ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกดำรงตำแหน่งปี 2507 ต่อมาได้รับเลือกอีก 2 สมัย รวม 12 ปี และครั้งที่ 3 ได้รับเลือกอีก แม้จะทรงชราภาพแล้ว แต่ก็ทรงดำรงตำแหน่งจนสิ้นสุดเทอม เมื่อ พ.ศ. 2523

ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งประธาน พ.ส.ล.นั้น เป็นช่วงที่สมาชิกเห็นชอบให้ พ.ส.ล. ตั้งสำนักงานถาวรที่ประเทศไทย จึงนับเป็นเกียรติภูมิของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธจำนวนมาก

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2438 ณ วังวรดิศ ด้านเหนือประตูสามยอด กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีหม่อมเฉื่อยเป็นมารดา และทรงเป็นองค์ที่ 5 ในจำนวนเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมมารดาเดียวกัน 8 องค์ สิ้นชีพิตักษัย วันที่ 11 ส.ค. 2533

ผลงานของพระองค์ท่านปรากฏให้เห็นในรูปพระนิพนธ์และการบรรยายจำนวนมาก พระนิพนธ์เล่มแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัล คือหนังสือ
“สาสนคุณ” เป็นหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ได้รับพระราชทานรางวัลที่ 1 ในการประกวดจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พ.ศ. 2472 โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์คำนำไว้ว่า “ข้าพเจ้าใคร่จะชมความสามารถและความพยายามของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่ได้แต่งหนังสือนี้เข้าประกวดได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลกรรมของเธอ”

เรื่องที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ก็ทรงนิพนธ์เรื่อง “ประเพณีไทย” ขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนไทย ตั้งแต่การทำขวัญวัน ทำขวัญเดือน โกนจุก บวชเณร บวชพระ แต่งงาน จนถึงพิธีเกี่ยวกับศพและการเผาศพ

หนังสือที่ถูกอ้างอิงเสมออีกเล่มหนึ่งคือเรื่อง สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ที่มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล และชมรมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริน|ทราวาส วันที่ 23 ส.ค. 2533 ในหนังสือนี้ได้เล่าพระประวัติบางตอนของพระองค์ท่านว่า

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงรับเป็นกรรมการบริหารและอุปนายกของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์หลายสมัย

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ฉายกับหม่อมมารดาเฉื่อย (ยมาภัย) ดิศกุล ณ อยุธยา

เมื่อปี พ.ศ. 2493 ได้ทรงร่วมคณะผู้แทนไทยไปประชุมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ขึ้นที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา พ.ศ. 2496 ทรงได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธาน พ.ส.ล. และต่อมาในการประชุมครั้งที่ 7 ขององค์การพุทธศาสนนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แล้วไปจบลงที่เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2507 ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กับให้ความเห็นชอบในการที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานเลขาธิการ พ.ส.ล. ย้ายมาตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

ในช่วงเวลานี้เองท่านสามารถบริหารงานให้ พ.ส.ล. ซึ่งซบเซาเกือบต้องล้มเลิกก่อนหน้านั้นให้กลับมาดำเนินต่อไป และก้าวหน้าเกินความคาดหมาย

ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และปีนัง ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13-20 เม.ย. 2512 ที่ประชุมก็ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธาน พ.ส.ล. อีกสมัยหนึ่ง กับมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สำนักงานใหญ่และสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทยอีกด้วย นับว่าได้ทรงสร้างศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกทุกสมัยเป็นเวลาถึง 22 ปี นับว่าได้ทรงสร้างศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง และในปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ก็ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ พ.ส.ล.

ในระยะที่ทรงเป็นประธาน พ.ส.ล. หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เสด็จรอบโลกมาแล้ว 2 ครั้ง โดยทรงไปเยือนศูนย์ภาคีของ พ.ส.ล. ทั้งในอินเดีย ยุโรป อเมริกา เอเชีย และสหภาพโซเวียต ได้ทรงบรรยายเกี่ยวกับหลักธรรมะของพระพุทธศาสนาในทุกประเทศที่เสด็จ จนเป็นที่ตระหนักได้ว่า ชาวพุทธต่างประเทศล้วนมีความชื่นชมโสมนัสเมื่อได้เข้าเฝ้าสนทนาธรรมะกับพระองค์ท่าน ที่ประเทศเกาหลี ทรงได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญา จากมหาวิทยาลัยดองกุ๊ด นครเซอูล เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2500 มูลนิธิเทมเปิลตัน (Templeton Foundation) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจของศาสนาทุกศาสนาในโลก ได้เลือกท่านเป็นกรรมการหนึ่งในเก้าคนของมูลนิธิ เมื่อ พ.ศ. 2517-2519

นอกจากพระกรณียกิจที่ได้กล่าวมาแล้ว หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อีกหลายด้าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพงศาวดารไทย เมื่อ พ.ศ. 2489 ทรงเป็นที่ปรึกษาองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในระยะเริ่มเปิดดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. 2503 ทรงเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2519 เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2520 และทรงเป็นประธานกรรมการฟื้นฟูประวัติศาสตร์หลายสมัย

พระองค์ท่านทรงประชวรและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้ง เพราะทรงพระชราภาพ

อร่าม สวัสดิวิชัย อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย มาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึงสิ้นชีพิตักษัย พ.ศ. 2533 เล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นผู้มีพระกรุณาและเมตตาต่อทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่รับใช้ใกล้ชิด ทรงแนะนำให้รู้จักเรื่องต่างๆ มากมาย เพราะทรงมีความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด บางเรื่องทรงบอกให้ฟังแบบที่คาดไม่ถึง เช่น การรักษาสุนัขที่เป็นขี้เรื้อน ว่าให้ใช้น้ำมันมะพร้าวผสมกับกำมะถัน ทาก็หาย

ด้วยทรงพระกรุณาที่มีต่อทุกคน รวมทั้งอร่ามด้วย ระหว่างที่ทรงประชวรตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2533 จนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัยคืนวันที่ 11 ส.ค. 2533 นั้น อร่าม สวัสดิวิชัย ได้เข้าเฝ้ารับใช้ใกล้ชิด ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว

นับแต่ปี 2533 ที่พระองค์สิ้นชีพิตักษัย ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี และมาสอดคล้องกับการฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการเกิด พ.ส.ล. ได้อย่างน่าอัศจรรย์

สมกับที่สื่อมวลชนเคยยกย่องพระองค์ท่านว่าเป็นผู้หญิงตัวเล็ก เตี้ยๆ แต่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่องานพระพุทธศาสนา