หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.อยู่ที่ 81.3ขยับดีขึ้นทุกรายการ
ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 81.3 ขยับตัวดีขึ้นทุกรายการ และสูงสุดในรอบปี หลังคลายกังวลเรื่องราคาน้ำมัน เตรียมปรับจีดีพีปีนี้ใหม่ คาดอยู่ในกรอบ 4.5-5% ส่งออกโอกาสแตะ 8-10%
ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 81.3 ขยับตัวดีขึ้นทุกรายการ และสูงสุดในรอบปี หลังคลายกังวลเรื่องราคาน้ำมัน เตรียมปรับจีดีพีปีนี้ใหม่ คาดอยู่ในกรอบ 4.5-5% ส่งออกโอกาสแตะ 8-10%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.2561 ว่า อยู่ที่ 81.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 80.1 ซึ่งถือว่าเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบปี และยังเป็นการปรับขึ้นในทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคลายความกังวลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวโดดเด่น รวมทั้งราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเกือบ 5 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 15-20 ล้านคนที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเนื้อหมู ไก่และไข่ไก่ ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มกลับมาแบบอ่อนๆ
ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 92.5 ปรับขึ้นจากเดือนก่อนที่ 91.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.9 ปรับขึ้นจาก 66.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 76.4 จาก 75.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.5 จาก 98.3
“จากค่าดัชนีที่ออกมาจะเห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความหวัง เพราะจากดัชนีรายได้ในอนาคตที่กลับมาใกล้ระดับ 100 อีกครั้ง และดัชนีค่าครองชีพที่อยู่ 61.7 จาก 59.3 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในรอบ 6 เดือน จึงเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทย ทำให้เห็นการกระจายตัวในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น โดยจะเริ่มจากภาคกลางและตะวันออกที่มีความเกี่ยวกับกับการลงทุนและการส่งออกก่อน รวมทั้งดัชนีสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้นและอยู่ในระดับใกล้ 100 ทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงทำให้ภาพของการลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความมั่นใจมากขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่สงครามการค้านั้น หอการค้าไทยมองว่า หากสหรัฐอเมริกายังไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่น่าจะทำให้สัญญาณการส่งออกของไทยมีการปรับตัวย่อลง และยังมองไม่เห็นสัญญาณเชิงลบดังกล่าว แม้ว่าหลายฝ่ายจะกังวลว่าอาจจะมีผลต่อการส่งออกไทยในช่วงไตรมาส4 ปีนี้ถึงต้นปีหน้า ตรงกันข้ามยังมองเห็นสัญญาณเชิงบวกมากกว่าทั้งค่าดัชนีต่างๆ ราคาสินค้าเกษตร การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนจากภาครัฐเพื่อเร่งให้เม็ดเงินกระจายตัวลงสู่ฐานรากในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เรื่องสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากจีน และจีนตอบโต้กลับก็อาจทำให้จีนหันมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทยแทน ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังของไทยปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี สัญญาณเชิงบวกเหล่านี้ ทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯ เตรียมปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะอยู่ในกรอบ 4.5-5% จากเดิมที่คาดว่าจะโตในกรอบ 4.4.5% ซึ่งจะเป็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่จีดีพีโต 2.7% ส่วนการส่งออกนั้น คาดว่าจะโตในกรอบ 8-10% จากเดิมที่คาดไว้ 6-8% โดยจะขอรอดูค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนก.ค.นี้ก่อน ว่าการฟื้นตัวนิ่งแล้วหรือไม่
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคช่วงเทศกาลบอลโลกปีนี้ หอการค้าไทยยังคงยืนตัวเลขเม้ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจที่ 2 หมื่นล้านบาท และช่วยกระต้นจีดีพีได้ 0.1% แต่ที่ผู้บริโภครู้สึกว่าบรรยากาศปีนี้ไม่คึกคัก ส่วนหนึ่งเพราะปีนี้การโฆษณามีไม่มาก แต่กิจกรรมเดิมๆ เช่น การส่งไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลโลกก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม