กทพ.จ่อชงบอร์ดเคาะขึ้นค่าทางด่วน 5 บาท
กทพ.รอ 'สุรงค์' ประธานบอร์ดคนใหม่กดปุ่มประมูลทางด่วนทีเอฟเอฟสามหมื่นล้าน พร้อมเร่งโครงการทางด่วนสองสาย 3 หมื่นล้านบาท-สางปัญหามิสซิ่งลิงก์
กทพ.รอ 'สุรงค์' ประธานบอร์ดคนใหม่กดปุ่มประมูลทางด่วนทีเอฟเอฟสามหมื่นล้าน พร้อมเร่งโครงการทางด่วนสองสาย 3 หมื่นล้านบาท-สางปัญหามิสซิ่งลิงก์
จากรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 มีมติอนุมัติแต่งตั้งนายสุรงค์ บูลกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวว่างลงหลังจากที่พลเอกวิวรรธน์ สุชาติ ตัดสินใจยุติการทำหน้าที่
แหล่งข่าวจากกทพ.เปิดเผยว่าหลังจากนี้ประธานบอร์ดคนใหม่จะเดินทางเข้ารับนโยบายจากรมว.คมนาคมและรมช.คมนาคมก่อนเริ่มทำหน้าที่ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีวาระประชุมเรื่องสำคัญรอให้บอร์ดพิจารณาอีกมากมายที่ต้องเร่งดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการเร่งเปิดประมูลโครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(ทีเอฟเอฟ) ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลทีโออาร์หลังจากขึ้นเว็บไซต์มาแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีโครงการทางด่วนอีกสองสายที่ต้องเร่งดำเนินการได้แก่ โครงการทางด่วนช่วงกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท และ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 (N2) วงเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วงวงแหวนรอบนอก-แยกเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคมสรุปรูปแบการก่อสร้างเพื่อนำผลการศึกษาไปถอดแบบราคากลางต่อไป อย่างไรก็ตามยังมีโครงการที่ต้องเร่งหาข้อสรุปที่ชัดเจนคือโครงการทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับ อุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (Missing Link) ระยะทาง2.6กม. งบประมาณก่อสร้าง6.2 พันล้านบาทอีกด้วย ขณะที่เรื่องของการประชุมบอร์ดนั้นจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค.นี้หรือไม่ คงต้องรองประธานบอร์ดตัดสินใจ
แหล่งข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่าหลังจากนี้จะมีการเสนอบอร์ดให้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นค่าทางด่วนช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ด เพิ่มขึ้นอีก 5 บาท เฉพาะรถที่มากกว่า 4 ล้อ โดยภายในวันที่ 18 ก.ค.นี้จะเร่งเจรจากับ BEM ถึงแนวทางการดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังมีทางด่วนอีก 3 เส้นทางที่ต้องพิจารณา ได้แก่ กทพ.บริหารจัดการโดยตรง 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-วงแหวนรอบนอก), ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์ เนื่องจากบางเส้นทางไม่ได้มีการปรับค่าผ่านทางมานานแล้ว ทั้งนี้ ในการพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง จะคิดคำนวณปรับบนพื้นฐานของอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ซึ่งแนวโน้มทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก จะได้ปรับขึ้นอีก 5 บาท สำหรับรถ 6-10 ล้อขึ้นไป ส่วนรถ 4 ล้อ คงเดิม ส่วนทางพิเศษฉลองรัช อาจยังไม่ได้ปรับ เนื่องจากการคำนวณจากฐานอัตราค่าผ่านทางย้อนหลัง 5 ปี ต่ำกว่าเกณฑ์
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าโครงการเชื่อมทางด่วนนั้นขณะนี้ยังติดปัญหาหลายด้านที่ต้องเจรจากับทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงเรื่องของการลงทุนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำหนดว่าเอกชนรายเดิมทั้งสองเจ้าได้แก่ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จํากัด และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ว่าจะแบ่งสัดส่วนลงทุนโครงการดังกล่าว