posttoday

คนไทยดื่มสูบหนัก หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม

06 มิถุนายน 2562

สศช.รายงานภาวะเศรษฐกิจสังคมไทยไตรมาสแรกน่าห่วง ไทยดื่มสูบหนัก หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม เยาวชนป่วยซึมเศร้าฆ่าตัวตายมากขึ้น

สศช.รายงานภาวะเศรษฐกิจสังคมไทยไตรมาสแรกน่าห่วง ไทยดื่มสูบหนัก หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม เยาวชนป่วยซึมเศร้าฆ่าตัวตายมากขึ้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลพบว่าค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นไตรมาสหนึ่งปี 2562 ขยายตัว 2.3% ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 4.5% ในไตรมาสก่อน โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัว 2.9% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัว 1.5% ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่กลับมาเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน

นอกจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยที่มีผลกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อาทิ สื่อโฆษณา ปัญหาความเครียด และพฤติกรรมการเลียนแบบ แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกิดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 55,000 คน และจากการดื่มแอลกฮอล์ประมาณ 22,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 11% และ 4.5% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ตามลำดับ

นายทศพร กล่าวว่า ยังมีประเด็นทางสังคมที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสสี่ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.6% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ยัมีเรื่อง เยาวชนมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น และมีการก่อคดีอาญารวมเพิ่มจากคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้นไตรมาสหนึ่งปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้น 5.1% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 7.4%