พิษเศรษฐกิจปีหน้าซึมหนัก...แรงงานผวากังวลตกงาน
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการจ้างงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาวะเศรษฐกิจในรูปของการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคซึ่งอยู่ในอายุ 15 – 64 ปี มีประมาณ 47.8 ล้านคนหรือคิดเป็น ร้อยละ 72 ของประชากรทั้งหมด แต่จำนวนนี้มีเพียง 10.5 -11 ล้านคนที่มีรายได้อยู่ในระบบภาษีที่รัฐเก็บ แต่ละปีเป็นเงินประมาณ 3.19 แสนล้านบาทเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.65 ของภาษีสรรพากรทั้งหมด ตัวเลขนี้ไม่รวมภาษี VAT ที่เก็บจากการนำเข้าและซื้อสินค้า-บริการ
ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบ-อาชีพอิสระและเกษตรกรรวมกันน่าจะประมาณ 20 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่รายได้มาจากการรับจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมในสถานประกอบการและโรงงานตลอดจนหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีของไทยเศรษฐกิจพึ่งพิงกับการค้าโลกในรูปของการส่งออกในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงจึงกระทบภาคส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเกือบทั้งโลกอยู่ในสภาพชะงักงันไปจนถึงชะลอตัวและคาดว่าจะยาว ภาพที่เห็นคือออเดอร์ของผู้ส่งออกลามไปจนถึงอุตสาหกรรมและบริการในโซ่อุปทานในประเทศที่ลดน้อยถอยลง เห็นได้จากโรงงานจำนวนมากที่เป็นแหล่งจ้างงานทะยอยปิดตัวเป็นข่าวที่พบเห็นได้ในสื่อต่างๆ
จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานที่ยื่นจำหน่ายทะเบียนเพื่อปิดกิจการปีที่แล้วมี 1,514 แห่ง ปี 2562 คาดว่าจะมีโรงงานปิดจำนวนที่ใกล้กันประมาณ 1,526 แห่ง และยังมีอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการชั่วคราวจำนวน 260 แห่ง ซึ่งยังจ่ายเงินให้กับลูกจ้างร้อยละ 75 ทั้งสองกลุ่มกระทบแรงงานมากถึง 1.9 แสนคน ขณะที่ตัวเลขโรงงานที่เปิดใหม่ปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 3,300 แห่ง เทียบจากปีที่แล้วโรงงานเปิดใหม่ลดลงสูงถึงร้อยละ 20
ที่ยกตัวอย่างภาคอุตสาหกรรมเพราะเป็นแหล่งการจ้างงานหลักมีจำนวนโรงงานประมาณ 1.405 แสนโรงงานทั่วประเทศ จำนวนแรงงานไม่แน่นอนกระทรวงแรงงานแจงว่ามี 6.17 ล้านคนแต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่ามี 4.04 ล้านคน ในช่วง 5 ปีแทบจะไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มลดลงจากการเข้ามาของหุ่นยนต์รวมถึงระบบออโตเมชั่นที่จะเข้ามาแทนการใช้แรงงานมนุษย์ อันที่จริงเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นภาคก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, โลจิสติกส์ แม้แต่ค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนเกษตรกรล้วนอยู่ในวงจรของเศรษฐกิจขาลงไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นไปเกือบทั้งโลกการแก้ปัญหาจึงมีความซับซ้อนเพราะเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันไปหมด
ล่าสุดสถาบันยูบีเอส โกลบอล เวิล์ด แมนเนจเม้นท์ เป็นสถาบันการเงินสำคัญของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยผลสำรวจนักธุรกิจทั่วโลกระบุว่า “ปี 2563 เศรษฐกิจโลกรวมถึงเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนและผันผวนจากการค้าโลก” ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงมีต่อไปซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการจ้างงานในภูมิภาคสูงขึ้น รายงานดังกล่าวเป็นการกล่าวเตือนนักธุรกิจและนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุนในช่วงนี้ เป็นสัญญาณทางลบของไทยซึ่งหวังว่าจะพึ่งการลงทุนจากต่างชาติ (FDI)โดยเฉพาะในโครงการอีอีซีอาจต้องยึดออกไป
เหตุที่ต้องกังวลต่อคำเตือนนี้เพราะการลงทุนหรือขยายกิจการทำให้เกิดการจ้างงานซึ่งแต่ละปี ภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงานใหม่ประมาณ 1.35 แสนคนขณะเดียวกันมีรายงานแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากโรงงานที่เลิกกิจการร่วมสี่หมื่นคน ปีนี้แทรกซ้อนจากโรงงานที่ปิดงานชั่วคราวซึ่งมีลูกจ้างถึง 1.5 แสนคนมีความเสี่ยงว่าครบกำหนดแล้วจะยังเปิดกิจการและมีการจ้างงานเหมือนเดิมหรือไม่ ประเด็นคือปีหน้าจะมีแรงงานใหม่เข้าตลาดแรงงานอีก 5.2 แสนคนขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ชะลอการจ้างงานหรือจะรับก็เท่าที่มีความจำเป็นแต่ในภาพรวมการจ้างงานของไทยยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยงที่รุนแรง
ประเด็นที่อยากจะชี้นำคือการที่ภาครัฐยึดติดอยู่กับอัตราการว่างงานที่อยู่ในอัตราต่ำติดอันดับหนึ่งของโลกจนไทยถูกจัดลำดับเป็นประเทศที่น่าอยู่ ตัวเลขการว่างงานของไทยใช้วิธีสุ่มสำรวจแต่ละเดือนมีประมาณ 2.8 หมื่นตัวอย่าง กติกาผู้ที่มีงานทำจะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างหรือสัปดาห์หนึ่งทำงานแค่ 1 ชั่วโมงจัดว่าเป็นผู้มีงานทำและทราบว่าการสำรวจได้นับแรงงานต่างด้าวประมาณ 4 ล้านคนเข้าไปด้วย ขณะที่กำลังแรงงานของประเทศซึ่งเป็นฐานคำนวณอัตราการว่างงานแต่ละเดือนขึ้นลงอย่างไม่มีที่มาที่ไป
ภาพที่ออกมาและทำให้ไม่เข้าใจคือการว่างงานอัตราต่ำๆ เช่น เดือนตุลาคมอัตราการว่างงานแค่ ร้อยละ 0.9 ขัดแย้งกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวล้วนอยู่ในช่วงขาลง การส่งออกของไทยและการนำเข้าสินค้าทุนจนถึงวัตถุดิบติดลบ อัตราเงินเฟ้อซึ่งชี้วัดอำนาจซื้อต่ำสุดเดือนที่ผ่านมาเกือบเป็น "ศูนย์" ตัวเลขโรงงานและสถานประกอบล้วนทะยอยปิดตัวล้วนเป็นข่าวที่ได้พบเห็นจนรัฐบาลต้องออกมาตรการ ชิม-ช็อบ-ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ล่าสุดออกมาตรการช่วยคนว่างงานตามโครงงานบัณฑิตเตะฝุ่นซึ่งระบุว่ามีถึง 5 แสนคนใช้งบประมาณ 8.6 พันล้านบาท มีทั้งจ่ายเบี้ยเลี้ยงคนละ 5,000 บาทต่อเดือนไปจนถึงจ่ายเป็นเงินเดือน 10,000 - 15,000 บาทต่อเดือน หวังว่าจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้สถานประกอบการดูแลแรงงานเพื่อดึงเวลาเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกมาตรการรับมือเศรษฐกิจปีหน้าต้องทำเป็นแผนไม่ใช่ไปสัญจรที่ไหนทีก็ออกมาตรการใหม่ๆ เพราะเศรษฐกิจ ขาลงรอบนี้ยาวแน่นอน ที่ฝรั่งสถาบัน "ยูบีเอส"ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกวิกฤติอยู่ขาลงปีหน้ามีความ ผันผวนมากกว่านี้ หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบควรจะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางออกบริหารความเสี่ยง...ไว้บ้างก็ดีครับ
(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)