posttoday

แรงงานต่างด้าว....ปัญหาซ้ำซากที่ซุกไว้ใต้พรม

15 พฤศจิกายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสเปิดประเทศผลที่ตามมาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทะลักลักลอบเข้าประเทศ จนทำให้กระทรวงแรงงานมีการทบทวนแนวทางการนำเข้าให้พอเพียงกับความต้องการอย่างถูกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ล่าสุด “ศบค.” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะได้กำหนดแนวทางและมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศภายใต้สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เช่น มาตรการคัดกรองและกักกันตัวก่อนที่จะให้ทำงานหากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มกักตัว 7 วัน    กรณีฉีดเข็มเดียวหรือไม่ได้ฉีดก็ต้องฉีดให้ครบโดสและกักตัว 14 วันก่อนปล่อยให้ทำงานต้องตรวจหาเชื้อ   ด้วยวิธี RC-PCR เงื่อนไขการกักกันตัวและกรณีติดเชื้อโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ประเด็นนี้ยังไม่ลงตัวว่ารัฐบาลและเอกชนจะต้องจ่ายเท่าใดโดยเฉพาะกรณีแรงงานที่นำเข้าสามารถย้ายงานหรือเปลี่ยนนายจ้าง

แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาทำงานเป็นปัญหามาช้านาน ที่ผ่านมารัฐบาลหลายยุคได้เข้ามาแก้ปัญหามีการออกมาตราการและกฎหมายก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แม้แต่ผู้เขียนช่วง “คสช.” เข้ามาใหม่ๆ ได้ชงเรื่องและแก่นของปัญหาให้รัฐมนตรีแรงงานอย่างน้อย 2 ท่านผลักดันจนมีการตั้งคณะทำงานซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปนั่งให้ความเห็นต่างๆ มากมาย คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐนับเป็นสิบกระทรวงรวมทั้งหน่วยความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจและมหาดไทย ฯลฯ มีการลดขั้นตอนต่างๆ จนทำให้สถานประกอบมีการขึ้นทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวเป็นหลักล้านคน แต่พอผ่านไปมาตรการต่างๆ ก็หย่อนยานกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งคงจะคล้ายๆ กับที่รมว.สุชาติ ชมกลิ่น กำลังดำเนินการที่สุดก็คงได้แค่กระดาษแต่การลักลอบขนแรงงานต่างด้าวก็ยังคงมีอยู่

การแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศเกี่ยวข้องกับการสมยอมตั้งแต่ตัวแรงงานต้นทางที่ยอมเป็นหนี้จ่ายเงินให้กับนายหน้าแลกกับการได้มีงานส่งเงินกลับบ้านเลี้ยงครอบครัวโดยอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ขณะที่นายจ้างก็สมยอมเพราะไม่มีทางเลือกเนื่องจากกิจการอาจเจ๊งเพราะไม่มีแรงงานที่จะทำงานโดยแลกกับความเสี่ยงอาจถูกจับค่าปรับ 10,000-100,000 บาทต่อลูกจ้างผิดกฎหมายหนึ่งคนและอาจเจอคดีอาญาโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี การลักลอบผ่านชายแดนเข้าประเทศเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งประเทศต้นทางและปลายทางตั้งแต่ชายแดนจนถึงสถานประกอบการในเมืองหากไม่มีการสมยอมแลกกับผลประโยชน์จะเข้าประเทศหรือทำงานได้อย่างไร

เส้นทางลักลอบเข้าประเทศคนท้องถิ่นก็รู้ว่าเข้ามาตรงจุดไหนและ/หรือเข้ามาได้อย่างไร เช่น กลุ่ม  ไทใหญ่จากเมืองหลอยก่อและเมืองตองยีจะใช้เส้นทางธรรมชาติข้ามแม่น้ำสาย คนพื้นเมืองเรียกว่า “แม่น้ำละว้า” ผ่านเข้ามาทางตะวันตกของจังหวัดเชียงราย หากเป็นคนกะเหรี่ยงใช้เส้นทางธรรมชาติข้ามแม่น้ำเมยตั้งแต่อำเภอพบพระ, อำเภอแม่สอด, อำเภอแม่ละมาด, อำเภอสองยาง ช่วงนี้มีการตรวจเข้มข้นเข้ามาทางอำเภออุ้มผาง ส่วนใหญ่นายหน้าจะพาข้ามป่าหลบด่านตรวจต่างๆ แล้วขึ้นรถมารวมกันที่อำเภอวังเจ้า  จังหวัดกำแพงเพชร โดยเสียเงินแบบเหมาจ่ายเดิมประมาณ 25,000 บาทต่อหัวปัจจุบันปรับเป็น 35,000 บาท ที่กล่าวมานี้ฟังเขาเล่ามาอีกทีอย่าไปเชื่อทั้งหมด

โครงสร้างแรงงานต่างด้าวของไทยข้อมูล ณ เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 มีจำนวน 2,374,501 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90.8 เป็นแรงงานทั่วไป (มาตรา 59) นำเข้ามาตามมติครม.และเข้ามาทำงานตามความต้องการของสถานประกอบการที่ภาครัฐไปทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ ข้อมูลล่าสุดมีจำนวน 1.475 ล้านคนมีจำนวนมากสุดสัดส่วนร้อยละ 68.42 รองลงมาประเทศกัมพูชาสัดส่วนร้อยละ 21.45 และสปป.ลาวสัดส่วนร้อยละ 10.13  นอกจากนี้แรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศยังประกอบด้วยแรงงานมีฝีมือและแรงงานที่เข้ามาตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI)

คำถามเศรษฐกิจไทยที่ทิศทางชัดเจนว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ภาคส่งออกขยายตัวได้สูงบวกกับราคาน้ำมันโลกราคาพุ่งสูงทำสถิติรายวันเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น อีกทั้งการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทั้งของไทยและต่างชาติจะทำให้ภาคบริการ, ร้านอาหารรายใหญ่-แผงลอย,     ค้าส่ง-ปลีกกลับมาฟื้นตัว คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 1-1.5 ขณะที่ปีพ.ศ.2565 ซึ่งเหลืออยู่แค่เดือนเศษจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.5  ผลข้างเคียงคือความต้องการแรงงานจะสูงตามไปด้วยโดยเฉพาะแรงงานระดับปฏิบัติการพื้นฐานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก จากข้อมูลของสนง.สถิติแห่งชาติแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เปรียบเทียบก่อนโควิดระบาด (มี.ค. 63) กับข้อมูลล่าสุด (ก.ย. 64) ลดลงถึง 693,204 คนหายไปคิดเป็นร้อยละ 5.91  ขณะที่แรงงานต่างด้าว ณ ช่วงเวลาเดียวกันลดลง 467,357 คนหายไปถึงร้อยละ 16.6  ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ภาคเอกชนต้องการ

เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานกลับมา ขณะที่แรงงานในระบบและแรงงานต่างด้าว   ถูกกฎหมายหายไปถึง 1.160 ล้านคน ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานปฏิบัติการพื้นฐานที่จะเข้าไปเติมเต็มอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น แรงงานตามโรงแรม-รีสอร์ท, ร้านอาหาร, แรงงานยกขน-ขนถ่ายสินค้ารวมถึงแรงงานในภาคเกษตร-ปศุสัตว์-ประมงที่แทบจะหาแรงงานไทยไม่ได้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในภาวะที่ยังคงไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิดทำให้ไม่มีแหล่งจ้างงาน เช่น ประเทศกัมพูชารายได้หลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว กอปรทั้งการฉีดวัคซีนและจำนวนคนติดเชื้อไม่เป็นที่น่าเชื่อถือเศรษฐกิจคงไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววัน ขณะที่เมียนมาร์ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดรวมกันเศรษฐกิจในประเทศมีแต่ทรุดตัวจากสงครามกลางเมืองและวิกฤตโควิดทำให้ธุรกิจในนครย่างกุ้งปิดตัวจำนวนมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมในเขตติละวาโรงงานยังเปิดไม่ถึงร้อยละ 60 เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงคนตกงานจำนวนมากเป้าหมายคือการหนีตายเสี่ยงลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยประเด็นนี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี

การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวก่อนอื่นต้องยอมรับว่าไทยมีความจำเป็นเพราะอุตสาหกรรม-บริการและภาคเกษตรมีการใช้แรงงานเข้มข้นมีจำนวนมาก ภาคเศรษฐกิจจริงส่วนใหญ่ยังไม่ถึง “Digital Economy”  ดังนั้นวาระปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องนำขึ้นมา “บนโต๊ะ” ไม่ใช่ซุกไว้ใต้โต๊ะหรือใต้พรม ปัญหาที่แก้ยากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลที่เล่นกันเป็นระบบมีโครงสร้างและเครือข่ายที่ซับซ้อน ทุกปาร์ตี้ตั้งแต่แรงงาน-นายจ้าง-เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในประเทศและประเทศต้นทาง (บางคน) ล้วนได้ประโยชน์ หากไม่ยอมรับประเด็นนี้การแก้ปัญหาก็แทบเป็นไปไม่ได้ พอเป็นข่าวในสื่อก็เรียกมาประชุมออกมาตรการสวยๆ แบบพอผ่านไปที...พอเรื่องเงียบทุกอย่างก็เงียบไปเองจริงไหมครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat