posttoday

21 เรื่องน่ารู้ 21 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง

02 กรกฎาคม 2561

ย้อนรอย วันนี้ (2 ก.ค.) หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท 

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

ย้อนรอย วันนี้ (2 ก.ค.) หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนบันทึกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาท ในสมัยนั้นมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี  ทนง  พิทยะ  เป็น รมว.คลัง  และ เริงชัย มะระกานนท์  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ 

ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการผูกค่าเงินสกุลเงินในตะกร้าเงิน หรือที่เรียกว่า Pegged Exchange Rate มาเป็นระบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float)

หลังจากที่ถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) โดยเราจะได้ยินชื่อของ จอร์จ โซรอส  จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศหมดหน้าตัก

ภายหลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือสมัยนั้นเรียกว่าลดค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จากเดิมที่ฟิตไว้ที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ขยับขึ้นเป็น 40-50 บาท/ดอลลาร์  ทำให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจต้องประสบกับปัญหาหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ นำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ และปิดธนาคารพาณิชย์ ต้องล้มละลายและฉุดให้เศรษฐกิจตกตํ่าอย่างรุนแรง  จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (IMF) 

สัญญาณหนึ่งก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ท่ามกลางภาวะฟองสบู่ การเปิดเสรีการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว   สถาบันการเงินเกิดวิกฤต ขาดธรรมาภิบาล มีการปล่อยกู้ให้กับพรรคพวก ไม่มีหลักทรัพย์ ปล่อยกู้เพื่อเก็งกำไร

จนในที่สุดไทยต้องเผชิญทั้งปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทลุกลามจนเกิดวิกฤตสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า “Twin Crisis”  ซึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินภูมิภาคเอเชียปี 2540 จนได้รับการเรียกขานวิกฤตรอบนี้ว่า “ต้มยำกุ้ง”  

เมื่อลูกหนี้มีปัญหาจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็ทำให้เป็น “เอ็นพีแอล” ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ ตัดหนี้สูญ (Haircut)  และการแยกหนี้เสียออกจากหนี้ดี  โดยมีการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ (เอเอ็มซี) รวมทั้งมีองค์กรตางๆ เกิดขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาวิกฤตซ้ำรอยได้อีก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝาก บริษัทข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น   

 วลีเด็ดในสมัยนั้น  “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”  “ล้มบนฟูก”   “คนเคยรวย”  “เปิดท้ายขายของ” และ “ลอยแพพนักงาน”  

เรื่องน่ารู้  21 เรื่อง ครบรอบ 21 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่าเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ที่เราหวังว่าจะไม่เกิดประวัติซ้ำรอย

1.วิกฤตต้มยำกุ้ง ต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่ต่างชาตินิยม พูดถึงประเทศไทยจะนึกถึงต้มยำกุ้ง เมื่อเกิดวิกฤตก็จะมาเป็นชื่อเรียก และในปี 2551 เมื่อสหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็เรียกวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

2.ลอยค่าเงินบาท รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 หรือบางคนก็เรียกว่า “ลดค่าเงินบาท” จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทคงที่25 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสูงสุด 56 บาท/ดอลลาร์ (ม.ค. 2541)

3.อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) ไทยได้มีการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบผูกกับสกุลเงินต่างประเทศที่เรียกว่าระบบตะกร้า(Pegged Exchange Rate) เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float)

4.การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น(Flexible Inflation Targeting) เป็นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายที่กำหนด

5.Hedge Fund (เฮดจ์ฟันด์) หรือกองทุนปีศาจ คือกองทุนรวมที่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทั้งการเงิน หุ้น และทำธุรกรรมการเงินได้ทุกประเภท ซึ่งเฮดจ์ฟันด์เป็นกองทุนที่กล้าได้กล้าเสีย เข้าเร็วออกเร็ว ชอบลาก และทุบเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท

6.การโจมตีค่าเงิน (Currency Attack) หมายถึงการที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาแสวงหากำไร จากการซื้อขายเงินตราของสกุลหนึ่งเพื่อทำกำไรจากผลต่างระหว่างอัตราที่ซื้อและอัตราที่ขาย เป็นวิธีการหารายได้รูปแบบหนึ่งของนักลงทุนระหว่างประเทศถ้าจะเปรียบเทียบกับ “การเก็งกำไรค่าเงิน” (CurrencySpeculation) จะมีนิยามเหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่การโจมตีนั้นมุ่งหวังให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง

7.จอร์จ โซรอส (George Soros) ฉายาพ่อมดการเงิน ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ผู้ถูกกล่าวหาว่าโจมตีค่าเงินบาทและอีกหลายสกุลในเอเชีย

8.Twin Crisis คือ วิกฤตค่าเงินและวิกฤตสถาบันการเงิน เนื่องจากกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม โดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ การปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวาง

9.ฟองสบู่ การที่ราคาสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ถูกปั่นราคา มีการแย่งกันซื้อทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเกิดความเป็นจริง เมื่อมีข่าวหรือเกิดเปลี่ยนแปลงก็แย่งขายทำให้ราคาตกลงมาอย่างรวดเร็วเรื่องว่าฟองสบู่แตก ซึ่งดัชนีหุ้นไทยวันที่ 4 ม.ค. 2537 อยู่ที่ 1,753 จุด และวันที่ 4 ก.ย. 2541 อยู่ที่ 207.31 จุด ลดลงมากว่า 85%

10.เอ็นพีแอล (Non-Performing Loan : NPL) หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนี้ที่มีการค้างชำระเกิน90 วันเอ็นพีแอล โดยเดือน พ.ค. 2540 หนี้เอ็นพีแอลได้พีกสูงสุด 52% สินเชื่อรวม

11.ประกาศปิด 58 ไฟแนนซ์ ธนาคารพาณิชย์ที่ล้มหายไป 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี ) ธนาคารศรีนคร ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย เนื่องจากมีปัญหาขาดสภาพคล่องและมีปัญหาหนีเสียจำนวนมาก กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินต้องเข้าไปอัดฉีดเงินและเข้าไปช่วยเพิ่มทุนกู้วิกฤติให้สถาบันการเงินที่ปิดกิจการ 1.4 ล้านล้านบาท

12.กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อไทยเกิดปัญหาวิกฤตเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ทำให้ไทยต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหลออก ไทยต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟและกู้เงิน 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยไทยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ วันที่ 14 ส.ค. 2540

13.องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) เพื่อดำเนินการกับสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน 58 แห่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 58 แห่ง และสถาบันการเงินอื่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินมาติดตามหนี้ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 องค์กรได้ปิดไปแล้ว และโอนหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท(บสส.) บริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลต่อไป

14.Haircut ตัดหนี้สูญ เป็นวิธีหนึ่งการกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้ยอมที่จะลดหนี้ หรือตัดเป็นหนี้สูญ

15.วลีเด็ด ปี 2540 “ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย” เป็นคำพูดของสวัสดิ์หอรุ่งเรืองเจ้าของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประสบปัญหากว่าแสนล้าน โดยได้ฟ้องล้มละลายเมื่อปี 2552 และจากนั้น 3 ปี ก็หลุดพ้นล้มละลาย

16.ล้มบนฟูก อาจจะตีความหมายได้ว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ หรือลูกหนี้ยอมล้มละลายให้เจ้าหนี้ยึดไปและไปซื้อหนี้คืนในราคาถูก หรือลูกหนี้ผ่องถ่ายทรัพย์สินไปแล้วและเหลือสินทรัพย์เล็กน้อยให้ยึด เป็นต้น

17.ลอยแพพนักงาน เปิดท้ายขายของคนเคยรวย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจบริษัทล้มละลายจะต้องปิดกิจการทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก คนรวยกลายเป็นคนจน เจ๊ง จะต้องมีการนำสินทรัพย์ออกมาเร่ขาย ที่เรียกกันว่าเปิดท้ายขายของกัน เพื่อเป็นเงินทุนดำรงชีพกันต่อไป

18.Good Governance หรือธรรมาภิบาล หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาการบริหารจัดการ การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา   หลังจากเกิดวิกฤตมีการพูดกันมากและเรียกร้องให้ผู้บริหารจะต้องมี “Good Governance”

19.บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าเครดิตบูโร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บประวัติการชำระสินเชื่อ เพื่อเป็นข้อมูลการประกอบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการงิน เพื่อไม่ให้ประชาชนมีหนี้สินเกินตัว

20.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit ProtectionAgency : DPA) จัดตั้งในปี 2551 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ฝากเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันปัญหาจรรยาวิบัติ (Moral Hazard) หรือการที่ประชาชนเชื่อว่าเงินฝากทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันคุ้มครองเงิน 10 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2563 จะลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท

21.ครบรอบ 21 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง จากวันนั้นถึงวันนี้เราได้รับบทเรียนและวิกฤตทำให้ไทยเกิด “จุดเปลี่ยน” หลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าไทยจะไม่มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้ว แต่อนาคตไทยยังต้องเผชิญและตั้งรับความท้าทายใหม่ๆ “VUCA” คือมีความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนคาดเดาได้ยาก (Uncertainty) มีความเชื่อมโยงซับซ้อน (Complexity) และไม่ชัดเจนในผลลัพธ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น (Ambiguity)ส่งผลให้การก่อตัวของวิกฤตในอนาคตอาจไม่เหมือนกับในอดีต ดังนั้นควรสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนหยัด