มาตรการภาครัฐ กับการรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคโควิค-19
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ...รศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; sasatra.blogspot.com
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19 หรือ COVID-19) ถือเป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandamic) ซึ่งตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง เชื้อโรคใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลกที่ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกินกว่าที่ระบบบริการสาธารณสุขในหลาย ๆ ประเทศจะรองรับไหว (รวมถึงประเทศไทย) หากแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ครั้งนี้ หากเป็นไปตามการพยากรณ์ในด้านเศรษฐกิจมหภาคของหลาย ๆ สำนัก ประเทศไทยคงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เป็นที่แน่นอน ทั้งนี้ นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค หมายถึง ภาวการณ์ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาที่แท้จริง หลังปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งแน่นอนว่า ผลกระทบของโรคโควิค-19 ต่อผู้คนในสังคมในครั้งนี้ดูจะรุนแรงและแผ่ขยายเป็นวงกว้างยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540-2541
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคโควิค-19 สามารถแบ่งออกเป็นสองด้าน ได้แก่
หนึ่ง ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งคือต้นทุนการใช้ทรัพยากรทางสาธารณสุข และการสูญเสียแรงงานทั้งชั่วคราวและอย่างถาวรที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการเจ็บป่วย และ
สอง ผลกระทบจากพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยง (Aversion behavior effects) เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการปิดเมือง หรือการยกเลิกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งแน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การค้าระหว่างประเทศและการขนส่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการจ้างงาน โดยมีแรงงานจำนวนมากที่ต้องว่างงานอย่างฉับพลัน
ทั้งนี้ งานศึกษาที่ผ่านมาอย่างเช่น Lee and McKibbin (2004) พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดใหญ่ อาทิ โรค SARS ในช่วงปี 2002-2004 ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงเป็นหลัก
ผลกระทบทั้งสองด้านข้างต้น ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้นไปจนถึงในระยะยาว โดยผลกระทบในระยะสั้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางสาธารณสุขอันเนื่องจากการเจ็บป่วย และผลจากการที่รายได้ของประชาชนลดลง ซึ่งอาจมาจากทั้งการว่างงาน และรายได้จากการทำงานที่ลดลง โดยประชาชนส่วนหนึ่งอาจประสบภาวะยากจนฉับพลัน (Abrupt poverty) เนื่องจากรายได้ที่มีไม่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานในสังคม นอกจากนั้น ผลจากการยกเลิกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนของสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะยากลำบากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนแก่คนกลุ่มนี้ อาทิ มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อลดความเดือดร้อนและให้เขาสามารถยังชีพได้ในช่วงเวลานี้
สำหรับผลในระยะยาว ซึ่งคือผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปกติแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยทุนและปัจจัยแรงงานเป็นหลัก การระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมทำให้ปัจจัยทุนและปัจจัยแรงงานในประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยผลต่อปัจจัยแรงงาน ได้แก่ ผลของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชน จะทำให้ปัจจัยแรงงานในประเทศลดลงในทันที ผลของการว่างงานฉับพลัน หากปล่อยให้เกิดขึ้นเนิ่นนานเท่าใด ย่อมทำให้ศักยภาพการทำงานของแรงงานที่เคยมีอยู่เดิมสูญเสียไปหรือลดลง ซึ่งแรงงานที่ว่างงานส่วนหนึ่งก็อาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ นอกจากนี้ ผลของการขัดจังหวะการศึกษา (Interrupted schooling) ที่อาจเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน ย่อมส่งผลระยะยาวต่อปัจจัยทุนมนุษย์ในประเทศ
ในส่วนของผลต่อปัจจัยทุน จากการที่รัฐบาลทุ่มสรรพกำลังไปด้านสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคโควิค-19 งบประมาณที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้อาจมาจากการปรับเปลี่ยนแผนการใช้เงินงบประมาณประจำปี หรืออาจมาจากการออก พรบ. งบประมาณรายจ่ายกลางปี ซึ่งสามารถใช้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การเพิ่มเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขนับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในช่วงเวลานี้ แต่เนื่องจากงบประมาณของประเทศที่มีอยู่จำกัด การเพิ่มงบประมาณในด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้งบประมาณในด้านอื่น ๆ ลดลง ซึ่งอาจรวมถึงงบลงทุนที่เดิมเคยวางแผนไว้ หรือรัฐบาลอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้มากขึ้น ซึ่งก็อาจส่งผลต่อการสะสมปัจจัยทุน และส่งผลกระทบอีกทอดหนึ่งต่อผลผลิตตามศักยภาพของประเทศได้เช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความพยายามในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 (แม้ประชาชนส่วนหนึ่งอาจมองว่า การแก้ไขปัญหายังเป็นไปอย่างไม่เด็ดขาดและล่าช้า) และการออกมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ หากรัฐบาลจะมีการออกแพคเกจเพื่อเยียวผลกระทบในระยะสั้นให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังอาจขาดหายไปคือ มาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการที่จะนำไปสู่การยกระดับผลิตภาพปัจจัยทุนและแรงงานของประเทศได้ (เช่น การส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรมหรือการศึกษาต่อด้วยระบบการเรียนออนไลน์ เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถ และเพิ่มทักษะของแรงงานและประชาชน ในช่วงเวลาที่คนส่วนหนึ่งสูญเสียโอกาสในการทำงานและต้องหยุดอยู่แต่ในบ้าน) ซึ่งน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยต่อประเทศไทยในช่วงเวลาถัดไป
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ปัญหาการระบาดของโรคโควิน-19 ยังไม่สิ้นสุด คงจะดีไม่น้อย หากรัฐบาล (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงกับการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิน-19) จะสามารถแปลงวิกฤตครั้งนี้ส่วนหนึ่งให้เป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินกลับไปสู่ระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ควรเป็น (หรือแม้กระทั่งยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ) โดยใช้เวลาไม่นานนัก ภายหลังจากวิกฤตโรคโควิด-19 จบสิ้นลง
อ้างอิง
Lee, Jong-Wha, and McKibbin, Warwick J., 2004, “Globalization and Disease: The Case of SARS,” Asian Economic Papers, Vol. 3, pp.113-131.