posttoday

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแนวโน้มใหญ่ที่ธุรกิจต้องปรับตัว

21 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...สุรัสวดี ไพเราะ ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเรื่องที่ทุกคนยังคงต้องให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของสภาวะโลกร้อน หรือ global warming โดยนิยามของภาวะโลกร้อนคือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งอุณหภูมิบริเวณผิวโลกและอุณหภูมิจากน้ำทะเลในมหาสมุทร โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอากาศมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ในเกือบทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือการบริการ การขนส่งหรือการส่งมอบสินค้า การตัดไม้ทำลายป่า เกษตรกรรม การปศุสัตว์นำมาซึ่งขยะมูลฝอย การกระทำดังกล่าวมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

สภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับเรามากกว่าที่คิด

สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตมนุษย์ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยแล้ง ความรุนแรงของพายุ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง โดยในประเทศไทยเองซึ่งเป็นประเทศเมืองร้อนก็รู้สึกได้ถึงอากาศบ้านเราที่ร้อนขึ้นทุกปี และจากหน้าหนาวที่เคยมีกลายเป็นมีเพียงแค่อากาศร้อนกับร้อนมากเท่านั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญและช่วยกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีผู้แทนจากทั่วโลกมากกว่า 195 ประเทศ ให้ความเห็นชอบและร่วมลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันภัยพิบัติ

จากเวทีโลกที่มีการกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับประเทศ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับองค์กร หลายบริษัทจากหลายภาคส่วนได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ภาคการผลิตหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทางเลือกที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น การคมนาคม ก็มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยควันเสียมาทำร้ายสภาพแวดล้อม โดยระยะยาวค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ายังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการค้าปลีกก็หันมาส่งเสริมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติกและส่งเสริมให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ ขณะที่ระดับบุคคลทั่วไปก็สามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อหยุดภาวะโลกร้อนได้ ผ่านการประหยัดไฟ และการปลูกต้นไม้

ภาวะโรคระบาดเป็นตัวเร่งให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การปรับตัวในช่วงที่มีโรคระบาดเป็นการบังคับทางอ้อมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทห้างร้านต่างๆ มีการปรับตัวในแนวทางที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวในที่ชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด การทำงานที่บ้านหรือการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ยิ่งกิจกรรมในการออกไปที่ชุมชนน้อยลงโอกาสในการสร้างขยะหรือใช้พลาสติกที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดภาวะเรือนกระจกก็จะน้อยลง การทำงานหรือการสร้างเอกสารผ่านระบบออนไลน์ที่มากขึ้นก็ทำให้การตัดต้นไม้เพื่อนำมาผลิตเป็นกระดาษก็น้อยลงเช่นเดียวกัน

ธรรมชาติได้ฟื้นฟูในขณะที่บริษัทก็เติบโตอย่างยั่งยืน

ผลพลอยได้จากการที่บริษัทต่างๆ ดำเนินการหรือกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะสั้นจะเห็นได้จากความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่สิ้นเปลือง เช่น ค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน ค่าเดินทางของพนักงาน ค่าใช้จ่ายทางเอกสารและการจัดเก็บ ขณะที่ระยะยาวแรกจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในประเทศที่มีนโยบายให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่บริษัทที่สามารถลดก๊าซ Co2 ได้จะส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษี และในอีกด้านหนึ่ง บริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะสามารถลดความเสี่ยงจากการมีปัญหากับคนในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาซึ่งการฟ้องร้องในอนาคต ส่งผลให้บริษัทสามารถที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างราบเรียบมากขึ้น เช่น NIKE ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของโลก ได้หันมาใช้พลังงานทางเลือกในการผลิต 100% และสามารถรีไซเคิลของเสีย การผลิตเส้นใยจากขวดพลาสติก

ลงทุนอย่างไรในภาวะที่โลกกำลังตื่นตัวในการดูแลสิ่งแวดล้อม

กระแสของการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมนำมาซึ่งโอกาสของนักลงทุนในการเข้าลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบรับไปกับทิศทางการเติบโตของโลก โดยเม็ดเงินจากการลงทุนจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการลงทุนไปกับบริษัทที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ กองทุนประเภทนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถทยอยลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของผู้ลงทุนจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว และเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้การลงทุนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นกระแสหลักในธีมการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะเลือกไว้เป็นอันดับต้นๆ โดยเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆผ่านการลงทุน