posttoday

การประกาศตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

31 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money… week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 ในสัปดาห์นี้ ความสนใจของตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ การประชุมของรัฐมนตรีคลังและธนาคารกลางของกลุ่มจี-7 ซึ่งจะมีการแสดงปาฐกถา ทำให้ตลาดรอติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายเงินในระยะต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกและพันธบัตรมีกำหนดหารือกันในวันอังคารเพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตน้ำมันในช่วงที่ความต้องการในตลาดโลกค่อยๆ สูงขึ้นด้วย ในด้านตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ สหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขตลาดแรงานของเดือนพฤษภาคมซึ่งตลาดประเมินว่า จำนวนการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 6.2 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อน และทำให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 5.9% ปัจจัยดังล่าวประเมินว่าจะมีผลต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ ด้านไทย ธปท. มีกำหนดประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของเดือนเมษายน ตลาดประเมินว่าจะขาดดุลมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 3.3%YoY

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 24-28 พฤษภาคม เงินบาททยอยแข็งค่าอยู่ในกรอบ 31.24-31.38 ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดการเงินของจีน และท่าทีของธนาคารกลางของจีนในช่วงแรกที่ไม่ได้กังวลต่อการแข็งค่าของเงินหยวน แม้ในช่วงเช้าของวันศุกร์ ธนาคารกลางของจีนจะเริ่มส่งสัญญาณความกังวล แต่เงินหยวนยังคงแข็งค่าลงต่อเนื่อง ด้านเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงวันหยุดกลางสัปดาห์ของไทย จากเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงสิ้นเดือน และสัญญาณการดูดซับสภาพคล่องเงินดอลลาร์ของเฟด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วงปลายสัปดาห์

ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก เริ่มส่งสัญญาณลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ประเมินว่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนปีหน้า และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 150 bps ภายในมิถุนายน 2024 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า มีโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ หากตลาดแรงงานฟื้นตัวจากการพักงานในช่วงโควิดได้อย่างราบรื่น ความเห็นเหล่านี้ทำให้เงินสกุลหลักแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

ด้านไทย ตัวเลขการส่งออกของไทยตามระบบศุลกากรในเดือนเมษายนที่ขยายตัวได้สูงกว่าที่ตลาดคาด ไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการส่งออกไม่รวมทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ขยายตัวสูงถึง 25.7%YoY เนื่องจากการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่าที่ 29.8%YoY ทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงมาที่ 182 ล้านดอลลาร์ จาก 711 ล้านดอลลาร์ในเดือนก่อน และเกินดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาดด้วย ขณะที่ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ ไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนักเช่นกัน เมื่อวงเงินกู้ลดลงมาที่ 5 แสนล้านบาท เทียบกับ 7 แสนล้านบาทที่รัฐบาลส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนในด้านช่วงเวลาการเริ่มกู้เงิน ตลอดจนช่องทางการกู้เงิน โดยตลาดประเมินว่า โครงสร้างการกู้จะคล้ายคลึงกับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม มีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น 5.8 พันล้านบาท ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เพียง 1.2 พันล้านบาท ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ 31.25 ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยในช่วงกลางสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีลงไปทำจุดต่ำสุดบริเวณแถว 1.55% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเห็นของสมาชิกเฟดบางท่านที่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาค่อนข้างดีเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปีปรับตัวสูงขึ้นมายืนเหนือ 1.60% ในช่วงท้ายของสัปดาห์ และในภาพใหญ่นักลงทุนยังคงต้องติดตามสัญญาณของการลดขนาดคิวอี ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการว่าเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งท้ายสุดแล้วจะกลับมากระทบตลาดพันธบัตรรัฐบาลทำให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น (Steepening)

สำหรับความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย เคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้เคียงกับระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของการประกาศพ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งวงเงินกู้ดังกล่าวลดลงจาก 7 แสนล้านบาทที่ ครม. อนุมัติไปก่อนหน้านี้ ทำให้นักลงทุนคลาดความกังวลจากเรื่อง supply ของพันธบัตรรัฐบาลลงไปได้บ้าง โดย ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.46% 0.53% 0.66% 1.06% 1.45% และ 1.85% ตามลำดับ

การประกาศตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 2,401 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 127 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,547 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 273 ล้านบาท