ธุรกิจหลังโควิด "ตลาดประกันในไทย" โตแกร่งสุดในภูมิภาค
อลิอันซ์ เผยสถานการณ์ตลาดประกันทั่วโลกฉบับล่าสุด ชี้ธุรกิจประกันในประเทศไทยอนาคตสดใส เป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตมากที่สุดในภูมิภาค
อลิอันซ์ เผยรายงาน อลิอันซ์ โกลบอล อินชัวรันส์ 2020 ฉบับล่าสุด เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดประกันทั่วโลก โดยทำการศึกษาผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและประเมินทิศทางของการเติบโตในอนาคต ระบุอุตสาหกรรมประกันโลก เข้าสู่ปี 2563 ด้วยอัตราการเติบโตที่ดี หลังจากปี 2562 ที่มียอดรวมเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น 4.4% นับว่าเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบสี่ปี
โดยเป็นการเติบโตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตซึ่งมีเบี้ยประกันรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2561 อยู่ที่ 4.4% เนื่องจากจีนผ่านช่วงเวลาที่หน่วยงานรัฐมีการออกกฏที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจไปแล้ว อีกทั้งตลาดสามารถปรับตัวให้เข้ากับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ประกันภัยทรัพย์สินเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับอัตราเดิม (4.3%) ลดลงจาก 5.4% ในปี 2561 นับเป็นครั้งแรกที่ประกันชีวิตโตมากกว่าประกันภัยทรัพย์สิน แม้จะมากกว่าเพียงเล็กน้อย ส่วนรายได้จากเบี้ยประกันทั่วโลกอยู่ที่ 3.906 ล้านล้านยูโร (หรือประมาณ 136.71 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งเป็นประกันชีวิต 2.399 ล้านล้านยูโร (หรือประมาณ 83.96 ล้านล้านบาท) และประกันภัยทรัพย์สิน 1.507 ล้านล้านยูโร (หรือประมาณ 52.74 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก การชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะทำให้อุปสงค์ของการประกันลดลงเช่นกัน มีการคาดการณ์ว่ารายได้จากเบี้ยประกันทั่วโลกจะหดตัวลง 3.8% ในปี 2563 โดยประกันชีวิตจะได้รับผลกระทบมากกว่าประกันภัยทรัพย์สิน อัตราการเติบโตหดตัว -4.4% และ -2.9% โดยลำดับ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าผลกระทบของโควิด19 รุนแรงยิ่งกว่าวิกฤติการณ์ทางการเงินโลก รายได้จากเบี้ยประกันทั่วโลกลดลง 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด19 จะแพร่ระบาด และยอดรวมของเบี้ยประกันทั่วโลกจะลดลงประมาณ 3.6 แสนล้านยูโร (หรือประมาณ 1.26 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นประกันชีวิต 2.50 แสนล้านยูโร (หรือประมาณ 8.75 ล้านล้านบาท) และประกันภัยทรัพย์สิน 1.10 แสนล้านยูโร (หรือประมาณ 3.85 ล้านล้านบาท)
นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของอลิอันซ์ กล่าวปี 2563 ธุรกิจประกันทั่วโลกถูกไวรัสเล่นงาน แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากโควิด19 โดยมองเห็นสามกระแสหลักซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วและจะกลับมาอีกในอนาคต นั่นคือ 1.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของโมเดลธุรกิจ 2.การหันเหความสนใจมาที่เอเชีย และ 3.องค์ประกอบด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG Factors ที่จะมีความสำคัญมากขึ้น
ในขณะที่ผู้เล่นในเอเชียเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ยุโรปยังคงนำด้าน ESG อย่างไรก็ตามเอเชียจะครอบครองอุตสาหกรรมประกันโลก เนื่องจากครัวเรือนในเอเชียจะเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักที่ช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ของการประกันทั่วโลก ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีอัตราการเติบโต 6.8% ในปี 2562 ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตของปีที่แล้วเกือบสองเท่า ทั้งกลุ่มประกันชีวิตและประกันภัยทรัพย์สินซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเบี้ยประกัน โดยกลุ่มประกันชีวิตโต 6.5% และประกันภัยทรัพย์สิน 7.5% และเบี้ยประกันรวมสูงถึง 9.47 แสนล้านยูโรในเอเชีย (หรือประมาณ หรือประมาณ 331 ล้านล้านบาท) เกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตนี้มาจากประเทศจีน ปี 2563 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเอเชีย
เนื่องจากรายได้จากเบี้ยประกันคาดว่าจะลดลง 0.7% ประกันชีวิตลดลง 1.8% แต่ประกันภัยทรัพย์สินจะยังคงโตเล็กน้อยที่ 1.9% สำหรับการคาดการณ์ในระยะยาว เอเชียจะกลับมาโตในอัตรา “ปกติ” และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปีจนถึงปี 2573 เบี้ยประกันชีวิตและประกันภัยทรัพย์สินคาดว่าจะโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราเดิม หรือเกือบสองเท่าของอัตราของตลาดโลก (4.4%)
นายมิคาเอล กริม นักเศรษฐศาสตร์อลิอันซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า เอเชียเป็นภูมิภาคแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 และจะเป็นภูมิภาคแรกที่ฟื้นตัว ซึ่งความตื่นตัวต่อความเสี่ยงที่มากขึ้น และความต้องการความคุ้มครองที่พุ่งสูงขึ้นของผู้บริโภค จะเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต โดยมีประเทศจีนเป็นผู้นำ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
"คาดว่าจะเห็นการเติบโตของรายได้จากเบี้ยประกันในอัตราตัวเลขสองหลักในตลาดจีน จนถึงปี 2573 ยอดรวมเบี้ยประกันของจีนจะเพิ่มสูงถึง 7.77 แสนล้านยูโร (หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท) ซึ่งเท่ากับขนาดของตลาดอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีรวมกัน จีนและเอเชียจะฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมจากวิกฤติการณ์ในปัจจุบัน” มิคาเอล กล่าว
สำหรับ ตลาดประกันในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ซึ่งทำให้รายได้จากเบี้ยประกันลดลง แม้จะลดลงเพียง 0.2% จากการหดตัวของผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันชีวิต (-2.0% เทียบกับ 4.1% ในกลุ่มประกันภัยทรัพย์สิน) นับเป็นครั้งแรกในระยะเวลานานกว่า 20 ปีที่ตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยหดตัว และในปี 2563 จะยิ่งเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น
เนื่องจากรายได้จากเบี้ยประกันจะลดลง 0.9% แสดงให้เห็นถึงผลประกอบการที่ไม่ดีนักของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤต ตลาดประกันในประเทศไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปี 2564 ด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 8% ในช่วง 10 ปีนี้หรือจนถึงปี 2573 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.8% ต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดประกันในประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่โตมากที่สุดตลาดหนึ่งในภูมิภาค โดยเบี้ยประกันต่อหัวอยู่ที่ 326 ยูโร (หรือประมาณ 11,410 บาท) ในปี 2562 (ตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาค 255 ยูโร หรือประมาณ 8,925 บาท) และมีอัตราการเข้าถึงประกัน (สัดส่วนของเบี้ยประกันต่อจีดีพี) อยู่ที่ 4.5%