ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งซิกขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อเพิ่มไม่หยุด
ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งซิกขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อเพิ่มไม่หยุด แจงผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย น้อยกว่าการปล่อยเงินขึ้นอยู่ไม่อยู่
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลัก ๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ไม่ใช่จากฝั่งอุปทาน โดยเงินเฟ้อปี 2565 น่าจะวิ่งไปสูงสุดที่ 6.2% ซึ่งจะพีคสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาในระยะต่อไป
ทั้้งนี้ โจทย์ด้านนโยบายการเงินที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะฟื้นตัวไม่เร็ว แต่ต้องต่อเนื่อง โดยหากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อด้วย ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง เกิดการสะดุด จึงเป็นที่มาว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีการพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พิจารณาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินฟ้อ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นหลัก ทำให้เห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเหมือนในอดีตจึงน้อยลง และต้องเริ่มปรับโหมดคิดถึงการเข้าไปสู่ภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ปกติมากขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับปัญหา เป็นการสร้างกันชนให้เศรษฐกิจ
"การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูบริบทของเรา เพราะเราต่างจากชาวบ้าน เงินเฟ้อของไทยที่พุ่งขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์ ไม่ได้มากเท่าฝั่งอุปทาน ในบริบทปัจจุบันการขึ้นดอกเบี้ยควรเป็นแบบของตัวเราเอง ไม่ควรต้องตามต่างชาติ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่จำเป็นว่าไทยต้องขึ้นตาม โดยไทยต้องดูบริบทของตัวเอง เป็นเรื่องจริงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก ตอนนี้สุทธิแล้วยังไหลเข้า ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นช้าเกินไปจะไม่ดี นโยบายการเงิน หรือนโยบายดอกเบี้ย เทียบเคียงแล้ว เหมือนการเหยียบคันเร่งกับการแตะเบรค ที่ผ่านมา ไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค
ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของ กนง. ที่จะตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ส่วนจะปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตาม เพราะว่าไม่ได้มีเป้าหมายล็อกไว้ในใจ ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะเกิดกับผู้มีรายได้น้อยมากกว่า แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูง โดย กนง. ก็มีเครื่องมือในการเข้าไปดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ที่ผ่านมาก็มีหลายมาตรการออกมาแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม แต่ถ้ายังไม่พอก็พร้อมที่จะออกมาตรการเสริมเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
โดยการขึ้นดอกเบี้ยต้องพิจารณาในทุก ๆ ปัจจัย ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาท เช่น กรณีที่เงินบาทอ่อนค่ามาก ๆ จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาในอดีต การส่งผ่านการอ่อนค่าของค่าเงินต่ออัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงมาก แต่ขณะนี้ยังชะล่าใจไม่ได้ ต้องทำนโยบายอย่างระมัดระวัง เพราะมีหลาย ๆ ปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน รวมถึงราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย และค่าเงิน
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า โอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศน้อยมาก ๆ โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้การทำนโยบายแบบสมดุล ตอนนี้ที่ให้น้ำหนักที่สุดคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจจะกลับมาในภาพเดิมเป็นไปได้ยาก แต่สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นแล้วเพราะมีการเปิดประเทศก็จะช่วยให้กลับสู่ภาวะปกติ ส่วนส่งออกก็มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ก็เป็นลักษณะการฟื้นตัวทางตัวเลข
"การผ่อนคลายนโยบายการเงินของเรา ก็เหมาะกับสิ่งที่เราเจอ คือเราโดนผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก เมื่อมองไปข้างหน้า ความจำเป็นตรงนี้น้อยลง คือไม่ใช่การเหยียบเบรค แต่เป็นการถอนคันเร่ง เหตุผลที่บอกว่าทำช้าไปไม่ดี เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ตอนนี้จะมาถอนคันเร่งอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว ต้องเหยียบเบรค และถ้ายิ่งคอยนาน ก็ต้องเหยียบเบรคแรงขึ้น ถ้าขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสที่จะต้องขึ้นมากขึ้น ก็จะตามมา ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่อยากเห็น ดังนั้น แนวทางการปรับดอกเบี้ย ต้องทำอย่าช้าเกินไป เพื่อจะไม่ต้องทำแรงเกินไป" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว