posttoday

ดร.ปกรณ์ ชี้ ธุรกิจดิจิทัล-ธุรกิจอวกาศ ต้องเดินไปพร้อมกัน

26 ตุลาคม 2566

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เผย เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเชื่อมสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ หวังธุรกิจดิจิทัล-ธุรกิจอวกาศ ทำงานควบคู่กัน สร้างประโยชน์ ขับเคลื่อนประเทศ

GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดงาน THAILAND SPACE WEEK 2023 "FOSTERING GLOBAL VALUE CHAIN" เชื่อมไทยสู่อุตสาหกรรมอวกาศโลก ตั้งแต่วันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ Plenary hall 1-2 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับเวทีเสวนาในหัวข้อ Plenary V - New Space Economy for Thailand's Next Era

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป้าหมายหลักของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ  GISTDA  คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน และประเทศ ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสามารถเกิดได้ในหลายมิติ อย่างแรกคือมิติของประชาชนว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและอำนวยความสะดวกให้ดีกว่าในอดีตได้อย่างไร ขณะที่ในมิติต่อมาคือทางด้านเศรษฐกิจ ว่าการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยให้เกิดอาชีพใหม่ๆได้อย่างไร เมื่อเกิดการสร้างอาชีพ กลไกเศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้น และอีกมิติคือด้านองค์ความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี 

สำหรับเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เราอยากให้เทคโนโลยีอวกาศช่วยเสริมสร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ในเรื่องฝุ่น PM 2.5 การป้องกันภัยพิบัติ รวมถึงหวังให้ภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้จริง และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยในการตัดสินใจของภาครัฐ

เมื่อถามว่า สำหรับประเทศไทย เรามีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมากแค่ไหน เพื่อรองรับต่อความต้องการในอนาคต ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีการเปิดหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศหรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งทางเราได้ประสานงานและช่วยส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดเพื่อศึกษาต่อยังต่างประเทศ รวมถึงร่วมมือกับมหาลัยในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม แต่คำถามที่ยังเกิดขึ้นคือ เรียนไป จบมามีงานทำหรือไม่

หากต้องตอบตามตรง ปัจจุบันในไทย เราอาจจะยังหางานทำได้ยากหากจบการศึกษาในด้านนี้มา แต่จากการสังเกตอุตสาหกรรมต่างๆที่ได้ร่วมออกบูธภายในงาน THAILAND SPACE WEEK 2023 ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เด็กที่จบด้านเทคโนโลยีอวกาศมาจะมีบริษัทรองรับทำงานอย่างแน่นอน ซึ่งในต่างประเทศบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ถือว่ายังขาดแคลน และต้องการกำลังคนอยู่อีกมาก

ส่วนธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจอวกาศจะสามารถทำงานควบคู่กันไปได้หรือไม่ ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นหน้าที่และสิ่งสำคัญที่ต้องทำ ต้องยอมรับว่าหลายคนยังมองว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งในจุดนี้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญที่สุด ผ่านการใช้องค์ความรู้จาก AI และ Machine Learning ที่จะช่วยให้การทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลด้านอวกาศเป็นไปได้อย่างง่ายได้และรวดเร็วยิ่งขึ้น