posttoday

เตือนสังเกตอาการตนเอง! เหตุค่าดัชนีความร้อน 14 เม.ย. เข้าขั้น "อันตราย"

14 เมษายน 2567

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เตือนประชาชนมั่นสังเกตอาการตนเอง หลังค่าดัชนีความร้อน 14 เม.ย. เข้าขั้น “อันตราย” ! ด้านจุดความร้อนสะสมประเทศไทย 24 ชม. ผุด 792 จุด

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แจ้งเตือน!! ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ประจำวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2567 ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อยู่ในเกณฑ์  “อันตราย” ประชาชนควรมั่นสังเกตอาการตนเอง ขณะที่กลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้มีโรคประจำตัว) ควรมีหมายเลขโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดไว้

ขณะที่ ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานจุดความร้อนสะสมในประเทศไทย ประจำวันที่  14 เมษายน 2567 ว่าพบจุดความร้อนสะสมในประเทศไทย ในช่วง 24 ชั่วโมง สะสม 792 จุด ยอด 7 วัน สะสม 6,370 จุด

ไฟไหม้หญ้าและขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 19 จุด ในหลายพื้นที่เขต โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจตราไม่ให้มีการเผาในที่โล่งทุกประเภท

ทั้งนี้  จุดความร้อน (Hotspot) คือ จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนบนผิวโลกสูงผิดปกติ ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ ทั้งนี้ อาจส่งผลให้เกิด PM2.5 โดยการเผาไหม้ในพื้นที่ใกล้เคียงจะส่งผลต่อสถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหา อีกทั้งนำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

เตือนสังเกตอาการตนเอง! เหตุค่าดัชนีความร้อน 14 เม.ย. เข้าขั้น \"อันตราย\"

ข้อแนะนำปฏิบัติตน

ค่าดัชนีความร้อนในระดับต่างๆ จะส่งผลต่อสุขภาพแบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน ดังนี้

  • ดัชนีความร้อนที่ 27-32.9 องศาเซลเซียส

อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน

  • ดัชนีความร้อนที่ 33-41.9 องศาเซลเซียส

อยู่ในระดับเตือนภัย อาจเกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

  • ดัชนีความร้อนที่ 42-51.9 องศาเซลเซียส

อยู่ในระดับอันตราย อาจมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

  • ดัชนีความร้อนมากกว่า 52  องศาเซลเซียส

อยู่ในระดับอันตรายมาก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก

โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก (0-5 ปี) ผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยหรือ ผู้ที่มีโรคประจําตัว ผู้ที่ต้องทํางานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผู้ที่ออกกําลังกายกลางแจ้ง และนักท่องเที่ยว