posttoday

"หมอประกิต"แนะรัฐปรับปรุงเก็บภาษียาสูบจริงจังนำรายได้เข้าประเทศ

24 สิงหาคม 2567

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเอกสารลับ ฟิลลิป มอร์ริส แนะรัฐบาลจัดเก็บภาษียาสูบจริงจังเพิ่มรายได้เข้าประเทศ องค์การอนามัยโลกเคยส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำหลายครั้งแล้วแต่เรายังมะงุมมะงาหรากันอยู่ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ภาษี:อาวุธที่ทรงพลังที่สุดในการคุมยาสูบ ที่เราไม่ได้จัดการให้ดี
       
หากท่านอ่านถึงมาตรการควบคุมยาสูบ(ลดคนสูบบุหรี่) จะพบว่า มาตรการทางภาษี อยู่อันดับแรกเสมอ ตามด้วยการจำกัดที่สูบ การห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย การเตือนพิษภัยยาสูบ(Best buy) 
       
เอกสารลับของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติฟิลลิป มอร์ริส บันทึกไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1985 ( พ.ศ.2528) ดังนี้
       
“ในบรรดาเรื่องที่น่ากังวลทั้งหมด มีเรื่องหนึ่งคือ ภาษี ที่เราหวาดกลัวมากที่สุด  แม้การควบคุมการตลาด การห้ามสูบในที่สาธารณะและการได้รับควันมือสองจะทำให้ปริมาณ(ขาย)ลดลง ในประสบการณ์ของเรา ภาษีทำให้ปริมาณลดลงรุนแรงที่สุด”
       
ตั้งแต่ พ.ศ.2531 หลังจากที่เราเริ่มรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เราก็เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่อย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลตอบสนองขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปลายปี พ.ศ.2536 ท่ามกลางการวิ่งเต้นคัดค้านสุดฤทธิ์จากทั้งโรงงานยาสูบไทย และบริษัทบุหรี่ต่างประเทศ 
        
โรงงานยาสูบไทย: “การขึ้นภาษีจะเพิ่มปัญหาบุหรี่เถื่อนและรัฐบาลอาจมีรายได้ลดลง”
        
บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ :”เป็นความล้มเหลวของการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ …หากจะต่อต้านกันอย่างจริงจัง น่าจะยกเลิกโรงงานยาสูบไปเลย”
        

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเก็บภาษีบุหรี่ได้ 15,345 ล้านบาทในปี พ.ศ.2536 แต่รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 20,002 ล้านบาทในปี พ.ศ.2537 ลบล้างข้อโต้แย้งของบริษัทบุหรี่
        
รัฐบาลจึงมีการขึ้นภาษีต่อเนื่อง 6 ครั้ง จนถึงปีพ.ศ.2545 โดยที่ยอดขายบุหรี่ลดลง แต่ประเมินคร่าวๆ รัฐบาลเก็บภาษีบุหรี่ได้เพิ่มขึ้นรวมแล้วนับแสนล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 2 เท่าของค่าก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS สายแรกของประเทศไทย(ตามอินโฟ)ที่เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาท
        
สนับสนุนคำแนะนำของธนาคารโลกที่ว่า ภาษีบุหรี่เป็นนโยบาย วิน วิน คือ รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนสูบบุหรี่น้อยลง
        
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆที่ใช้นโยบายขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อลดการสูบบุหรี่ ที่ประเทศในอาเซียนนำไปทำตาม และบิล เกตต์นำไปพูดในที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิค ฟอรั่ม ให้ประเทศอัฟริกาและประเทศอื่นๆรับรู้
        
แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ยาเส้นที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาษีที่เก็บต่ำมากๆ  การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ผิดพลาด ปริมาณบุหรี่หนีภาษีที่เพิ่มขึ้นในหลายปีหลัง ทำให้รายได้จากภาษีบุหรี่ลดลง แต่จำนวนคนสูบบุหรี่ไม่ลดลง 

อนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า การจัดการที่ดี ภาษียาสูบจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล และเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการสูบบุหรี่ ประหยัดค่ารักษาพยาบาลคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ มาตรา 6 ของอนุสัญญากำหนดแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารภาษียาสูบ
       
องค์การอนามัยโลกก็เคยส่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำการปรับปรุงระบบภาษีบุหรี่ของไทยหลายครั้งแล้ว
      
แต่เรายังมะงุมมะงาหรากันอยู่
       
ขณะที่ล็อบบี้ยิสต์ที่วิ่งเต้นให้ยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ที่เรียกร้องว่า เมื่อเปิดให้ขายได้ถูกกฏหมายแล้ว ภาษีบุหรี่ไฟฟ้าต้องต่ำกว่าบุหรี่มวน เพราะว่าปลอดภัยกว่า

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ 
24 สิงหาคม 2567
อ้างอิง หนังสือ 2 ทศวรรษการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2552 หน้า 66-68