posttoday

เปิดแนวคิด วัฒนรักษ์ เสนอรัฐบาล ยึดหลักร.9 -Delta Works แก้น้ำท่วมยั่งยืน

06 ตุลาคม 2567

น้ำท่วมหนัก เชียงราย เชียงใหม่ ส่งผลกระทบประชาชน พื้นที่เกษตรกรรม และทางเศรษฐกิจ น้ำเหนือเริ่มไหลงลงสู่ภาคกลาง แพทองธาร ชินวัตร ยืนยัน น้ำท่วมไม่ท่วมกรุงเทพ แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ วัฒรักษ์ อำนรรฆสรเดช เสนอรัฐบาล ยึดร.9 กับโมเดล Delta works แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

KEY

POINTS

  • น้ำท่วมในภาคเหนือ เชียงราย โดยเฉพาะ เชียงใหม่ กำลังเกิดวิกฤตหนัก หลายหน่วยงานเร่งระดมช่วยเหลือ สถานการณ์ภาคกลาง กทม. ยังไว้วางใจไม่ได้
  • แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยัน ปีนี้ น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
  • ชาวกทม. ยังจำภาพเมื่อปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ ครั้งนี้จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีกหรือไม่ ต่างติดตามรับฟังข่าวและแนวทางการแก้ไขรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
  • หลายหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหา ออกประกาศคำเตือน เตรียมรับมือ พร้อมทั้งออกมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู ประชาชน และ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
  • วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช นำเสนอแนวทางแก้ไข ป้องกัน นำโครงการพระราชดำริร.9 ประยุกต์ใช้กับหลัก Delta Works และการวางแผนป้องกัน ระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน 

จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ เชียงราย เชียงใหม่ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ สร้างความเสียหายให้กับ ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตร ไร่นา ปศุสัตว์ เสียหาย กระแสน้ำที่ไหลจากภาคเหนือ ไหลลงมา สุโขทัย พิษณุโลก และไหลลงไปเรื่อยๆ สร้างความหวั่นวิตก พระนครศรีอยุธยา และ กทม. ในอนาคต จะเป็นอย่างไร

ภาพน้ำท่วมใหญ่ในกทม. เมื่อปี2554 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ 'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่าง เดินทางไปยัง กรมชลประทานปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อตรวจราชการการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจ ปีนี้ น้ำจะไม่ท่วมกทม.อย่างแน่นอน

กระแสน้ำหลากที่ถาโถมเข้ามา ฝนที่ยังตกต่อเนื่อง ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ที่จะทำให้ ผู้คนจำนวนไม่น้อย อดเป็นห่วงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำ นอกจากให้คำตักเตือน หลายต่อหลายคน ให้คำเสนอะแนะ รับมือด้วย เช่นเดียวกับ ภาคการเมือง ร่วมนำเสนอแนวคิด
 

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 

เรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้แนวคิด พอเพียง ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทยให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ภาวะโลกร้อนทำให้วงจรน้ำทั่วโลกแปรปรวน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดพายุที่มีความรุนแรง ฝนตกหนัก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งประสบปัญหาเช่นเดียวกันในหลายจังหวัด


การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยมุ่งเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บน้ำ ขยายเขตชลประทาน พัฒนาระบบกระจายน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดปี โดยไม่มีน้ำท่วมและน้ำแล้ง

นำโครงการพระราชดำริ ใช้ร่วมกับ Delta Works


รัฐบาลควรนำโครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการแก้มลิง มาใช้ร่วมกับระบบ Delta Works ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก เข้ามาพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมในประเทศไทย หากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าน้ำยังสามารถจัดการน้ำท่วมได้ ประเทศไทยที่มีภูมิประเทศสูงกว่าก็สามารถทำได้เช่นกัน

ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ ได้รับผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ชาวไร่ ชาวนา ต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และเด็กเล็ก

 

ใช้ระบบเตือนภัย เข้าใจง่าย-ประสานอปท.จัดศูนย์พักพิง

แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วน เช่น  การใช้ระบบเตือนภัยน้ำท่วมที่เข้าใจง่ายและครอบคลุมทุกตำบล เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวได้ทันที โดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑลที่กำลังเผชิญปัญหาน้ำท่วม  รวมถึงการเร่งดำเนินการชดเชยและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว 

จัดสรรงบกลางสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น เงินเยียวยา 3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หากมีสมาชิกเกินกว่า 3 คน ให้เพิ่มคนละ 500 บาท เงินชดเชยชาวไร่ชาวนา จ่ายทันทีหลังน้ำท่วม 1,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม  นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเตรียมศูนย์พักพิงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ประสบภัย

ระยะยาวยังต้องดูแล ขยายเวลาผ่อนผันชำระหนี้กลุ่มผู้ประสบภัย 

มาตรการระยะกลาง  ควรมีการกำหนดพื้นที่รับน้ำที่ชัดเจน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ  และการ จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น การซ่อมแซมถนน ระบบชลประทาน และระบบไฟฟ้า สำหรับมาตรการระยะยาว รัฐบาลควรจัดการผ่อนผันการชำระหนี้ของผู้ประสบภัยเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยมีเวลาในการฟื้นตัว


การจัดการน้ำท่วมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ความสำคัญของมาตรการที่ยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน