posttoday

ปิดฉาก "พลังงานถ่านหิน" ของชาติเริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม

06 ตุลาคม 2567

สหราชอาณาจักรสร้างประวัติศาสตร์ ปิดฉากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของชาติแรกในการปฏิวัติอุตสาหกรรม หันมาใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เต็มรูปแบบ วางเป้าหมายระบบไฟฟ้าของประเทศจะต้องปลอดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573

ทุกวันนี้ประเทศไหนที่ยังคิดสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินคงต้องคิดให้หนัก เพราะในอนาคตอุตสาหกรรมโลกจะไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่สร้างมลพิษให้กับโลกอีกแล้ว แต่ระบบเศรษฐกิจในโลกทั้งหมดจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง

 

Electrek.co สื่อพลังงานรายงานว่า สหราชอาณาจักรได้สร้างช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานด้วยการปิดโรงไฟฟ้า Ratcliffe-on-Soar ในเมืองน็อตติงแฮมเชอร์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่

 

“นี่เป็นบทสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่งจากประเทศที่เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม”

 

ฟิล แมคโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการด้านพลังงานโลกของ Ember สถาบันคลังสมองสำคัญระดับโลกกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของโลกเปิดในลอนดอนเมื่อปี พ.ศ. 2425 และล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 ถ่านหินใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 39% ของปริมาณไฟฟ้าของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ Ember แสดงให้เห็นว่า ตัวเลขลดลงอย่างรวดเร็วในปีต่อๆ มาโดยเหลือเพียง 2% หรือต่ำกว่าตั้งแต่ปี 2562

 

“การเดินทางของสหราชอาณาจักรไปสู่การเลิกใช้ถ่านหิน”

รายงานของ Ember เรื่อง “การเดินทางของสหราชอาณาจักรไปสู่การเลิกใช้ถ่านหิน” สรุปปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่เอื้อต่อการเลิกใช้ถ่านหินอย่างรวดเร็วของสหราชอาณาจักรคือ

  • การประกาศเลิกใช้ถ่านหินในปี 2568 ล่วงหน้าหนึ่งทศวรรษ
  • การกำหนดราคาคาร์บอน
  • สนับสนุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง
  • การปฏิรูปตลาดเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
  • และการลงทุนในโครงข่ายไฟฟ้า

 

เมื่อไม่มีการใช้ถ่านหินพลังงานที่จะเข้ามาทดแทนก็มาจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ ลดการพึ่งพาก๊าซลงไปเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายที่ระบบไฟฟ้าของประเทศจะต้องปลอดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2573

 

โรงไฟฟ้า Ratcliffe-on-Soar ในเมืองน็อตติงแฮมเชอร์  สหราชอาณาจักร (ภาพ: wikipedia)

 

การเลิกใช้ถ่านหินของสหราชอาณาจักรก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เริ่มจากลดทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นทุน เพราะการลดลงอย่างรวดเร็วของการใช้พลังงานถ่านหินนับตั้งแต่ปี 2555 สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 880 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมากกว่าสองเท่าในปี 2566

 

Ember คำนวณด้วยว่าการเปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นพลังงานลมและแสงอาทิตย์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 2.9 พันล้านปอนด์ (ราว 1.3 แสนล้านบาท)

 

“ครั้งหนึ่ง พลังงานถ่านหินเคยเป็นคำขวัญสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรม...ปัจจุบันพลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ในประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย”

 

นายแมคโดนัลด์กล่าวทิ้งท้าย

โรงไฟฟ้า Ratcliffe-on-Soar จากทิศตะวันออก ภาพในอดีตขบวนถ่านหินถูกขนถ่ายผ่านอาคารที่อยู่ตรงกลางขวา