posttoday

เปิดเอกสารกรมทางหลวง ขอ รฟท. ใช้ที่เขากระโดง สร้างถนนบุรีรัมย์ – ประโคนชัย

18 พฤศจิกายน 2567

เปิดเอกสาร กรมทางหลวงขออนุญาตใช้พื้นที่เขากระโดงจากการรถไฟ ทำถนนไป อ.ประโคนชัย พบถนนเส้นนี้ เป็นที่ตั้งของบ้านพักและธุรกิจของตระกูลชิดชอบ จนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว

เอกสารเกี่ยวกับที่ดินรถไฟเขากระโดงฉบับนี้ อยู่ที่กองกรรมสิทธิ์ ของการรถไฟฯ เป็นกรณีกรมที่ดิน ขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างถนนบุรีรัมย์-ประโคนชัย เมื่อปี 2532 โดยนายเสถียร วงศ์วิเชียร อธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้น ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 19 มกราคม 2532 เพื่อขอทำสัญญษอาศัย ยื่นต่อผู้ว่าการการรถไฟ หลังตรวจสอบพบว่า การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ระหว่าง กม.1+740 ถึง กม.5+650 ตัดผ่านที่ของการรถไฟเป็นระยะทาง 3910 เมตร เขตทางกว้าง 20 เมตร จึงขอให้การรถไฟแต่งตั้งตัวแทนในการทำสัญญาอาศัย

ต่อมาสำนักงานผลประโยชน์ การรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาอนุญาต เนื่องจากเห็นว่า การตัดถนนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากนำความเจริญเข้ามา ทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้ทำหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดิน เพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข 219 บุรีรัมย์ - ประโคนชัย ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ลงนามโดยวิศวกรบำรุงทาง เขตบำรุงทางลำชี ในฐานะตัวแทนของการรถไฟ และ นายช่างแขวงการทางบุรีรัมย์ ในฐานะของตัวแทนกรมทางหลวง โดยหนังสือฉบับนี้เป็นการให้สิทธิเหนือพื้นดินโดยไม่กำหนดระยะเวลา และไม่มีการคิดค่าเช่า แต่มีการชำระค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาจำนวน 1,000 บาทตามเอกสาร

(เอกสารในอัลบั้มภาพ)

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบพื้นที่ตามแผนที่แนบท้ายสัญญา ที่กรมทางหลวงขออนุญาตการรถไฟใช้พื้นที่แล้ว พบว่า พื้นที่ตรงกับข้อมูลที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 โดยระบุว่าการถือครองโฉนดที่ดินของเครือญาติของนายศักดิ์สยาม และบริษัทที่มีเครือญาติของนายศักดิ์สยามถือหุ้นหรือเป็นกรรมการบริษัทฯ ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟฯ เขากระโดง รวม 12 แปลง เนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา ประกอบด้วย

เปิดเอกสารกรมทางหลวง ขอ รฟท. ใช้ที่เขากระโดง สร้างถนนบุรีรัมย์ – ประโคนชัย

 

1.โฉนดเลขที่ 3466 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ตั้งของบ้านพักของนายศักดิ์สยาม

 

2.โฉนดเลขที่ 8564 เนื้อที่ 37 โร่ 1 งาน 65 ตารางวา ถือครองโดย นางกรุณา ชิดชอบ

 

3.โฉนดเลขที่ 3742 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด

 

4.โฉนดเลขที่ 3743 เนื้อที่ 13 โร่ 3 งาน 69 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด

 

5.โฉนดเลขที่ 3476 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด

 

6.โฉนดเลขที่ 2847 เนื้อที่ 10 โร่ 18 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด

 

7.โฉนดเลขที่ 3477 เนื้อที่ 37 โร่ 1 งาน 22.4 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้ บริษัท เค. 2009 ลิซ จำกัด เช่า 30 ปี (1 เม.ย.2554-31 มี.ค.2584) (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสนามฟุตบอลช้างอารีน่า)

 

8.โฉนดเลขที่ 24091 เนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 8.2 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้ บริษัท เค. 2009 ลิซ จำกัด เช่า 30 ปี (1 เม.ย. 2554 - 31 มี.ค. 2584) ให้ บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สปอร์ตโฮเทล จำกัด เช่าช่วงต่อ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงแรม)

 

9.โฉนดเลขที่ 9160 เนื้อที่ 6 โร่ 1 งาน 96 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้ บริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด เช่า 30 ปี (1 เม.ย.2554-31 มี.ค. 2584) (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดนัด)

 

10.โฉนดเลขที่ 3285 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 30.6 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท เค. มอเตอร์สปอร์ต จำกัด

 

11.โฉนดเลขที่ 30222 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 24.3 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท เค. มอเตอร์สปอร์ต จำกัด

 

12.โฉนดเลขที่ 115572 เนื้อที่ 8 โร่ 3 งาน 21 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้ บริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด เช่า 30 ปี (1 เม.ย. 2554-31 มี.ค. 2584) (ทางเข้าสนามแข่งรถ)

 

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ระบุหลังการอภิปรายว่า ตนสามารถชี้แจงได้หมด ถ้าเป็นเรื่องเดิมๆ อะไรที่เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้วต้องเคารพ

ในขณะที่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นเดียวกันก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยามเคยชี้แจงว่า

“ในฐานะที่ผมเอง พาร์ทหนึ่งก็เป็นประชาชน เป็นบุคคลธรรมดา ผมไม่ได้ถือ มีชื่อในกรรมสิทธิ์ และเป็นผมอาศัยในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการที่ถูกต้องตามกฎหมายและสุจริต ในส่วนของประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ 2502...

ส่วนในฐานะ รมว.คมนาคม ผมยืนยันว่าไม่เคยแทรกแซงการดำเนินการใดๆของการรถไฟฯ ด้านการมอบนโยบายที่ดินให้การรถไฟฯให้ยึดระเบียบกฎหมาย และธรรมาธิบาลมาโดยตลอด”