เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ เข้าสู่วันที่ 11 เดือดร้อน 664,173 ครัวเรือน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานน้ำท่วมภาคใต้ เข้าสู่วันที่ 11 ครอบคลุมพื้นที่ 10จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ประชาชนเดือดร้อนสะสม 664,173 ครัวเรือน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2567 มีพื้นที่ประภัย 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับ ผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย (จ.พัทลุง 1 ราย สงขลา 8 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 4 ราย นราธิวาส 2 ราย)
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7จังหวัด (นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) 47 อำเภอ 349 ตำบล 2,174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 434,438 ครัวเรือน (ที่มา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
สำนักงานทรัพยากรนำแห่งชาตอ (สทนช. ) ประกาศฉบับที่ 20/2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ไปจนถึงวันที่ 4ธ.ค.2567 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
ฝนใต้จ่อตกหนักอีกระลอก ชป.จับตาสถานการณ์น้ำใกล้ชิด
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน เปิดเผยว่าหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันระยะต่อไป ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 3 - 5 ธ.ค. 67
ด้านสถานการณ์ปัจจุบัน มีพื้นที่น้ำท่วม 7 จังหวัด ดังนี้
- จ.ตรัง มีน้ำท่วมขัง 2 อำเภอ คือ ปะเหลียน และนาโยง
- จ.ปัตตานี น้ำในแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ล้นตลิ่ง ส่งผลให้น้ำท่วมขัง 12 อำเภอ ได้แก่ สายบุรี ทุ่งยางแดง ไม้แก่น แม่ลาน มายอ หนองจิก เมืองปัตตานี โคกโพธิ์ กะพ้อ ยะรัง ยะหริ่ง และปานาเระ
- จ.พัทลุง น้ำท่วมขัง 3 อำเภอ ได้แก่ บางแก้ว ควนขนุน และเขาชัยสน
- จ.สงขลา น้ำในคลองต่ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง 4 อำเภอ ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร
- จ.ยะลา น้ำในแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีล้นตลิ่ง ส่งผลให้น้ำท่วมขัง 8 อำเภอ ได้แก่ เมืองยะลา บันนังสตา ยะหา รามัน กาบัง ธารโต เบตง และกรงปินัง
- จ.นราธิวาส น้ำในคลองตันหยงมัส แม่น้ำโก-ลก ล้นตลิ่ง และมีน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้น้ำท่วมขัง 11 อำเภอ ได้แก่ เมืองนราธิวาส ยี่งอ บาเจาะ รือเสาะ ศรีสาคร ระแงะ เจาะไอร้อง สุไหงปาดี ตากใบ แว้ง และสุคิริน
- จ.นครศรีธรรมราช มีน้ำท่วมขัง 7 อำเภอ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร เฉลิมพระเกียรติ และพระพรหม
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ จากภาคอื่นๆ ที่ไม่ประสบอุทกภัย นำมาสนับสนุนการระบายน้ำในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่กับการบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม ตลอดจนสิ่งของที่จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์