มหิดล เผย แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวยังไม่เกินมาตรฐานออกแบบอาคาร
แผ่นดินไหวเมียนมา แรงสุดในรอบ 186 ปี สั่นสะเทือนถึงไทย วิศวะฯ มหิดล เผย ข้อมูลที่วัดได้ ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน การออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า
เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย โดยในอดีตรอยเลื่อนดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2382 ซึ่งเชื่อว่ามีขนาด 7.9 - 8.3 ทำให้เกิดเสียหายเป็นอย่างมากที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รับรู้ถึงแรงแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกันกับครั้งนี้
ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 186 ปีจากเหตุการณ์ดังกล่าว
รศ.ดร.ธีรพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเกิดเเผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดที่ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร จึงถือว่าเป็นแผ่นดินไหวตื้น และมีทิศทางการเคลื่อนไหวลักษณะเหลื่อมขวา (right lateral strike slip) และมีความยาวในการเลื่อนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตร จึงทำให้บริเวณที่อาจได้รับความเสียหายรุนแรงเนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นบริเวณกว้าง
โดยเมืองมัณฑะเลย์ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่อาศัยมากกว่า 1 ล้านคนจึงเชื่อว่าจะทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งแผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นบนบกจึงไม่น่าที่จะทำให้เกิดสึนามิได้
รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่จากตอนเหนือของประเทศพม่าจนถึงตอนใต้ใกล้เมือง Bago ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากกว่า 7.0 ได้เช่นเดียวกัน
โดยตามประวัติแล้วแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดจากรอยเลื่อนดังกล่าวมีความถี่ในการเกิดในช่วง 100 - 200 ปี จึงทำให้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ในช่วงชีวิตของคนเราอีกครั้ง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมอุตุนิยมวิทยา และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ซึ่งได้รับทุนวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและกรุงเทพมหานคร
ซึ่งข้อมูลที่วัดได้ยังพบว่าไม่ได้เกินกว่าค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่ออกประกาศให้ใช้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2561
ดังนั้นอาคารที่ถูกสร้างได้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมจึงควรจะเกิดความเสียหายเล็กน้อยและพร้อมเข้าใช้งานได้ แต่เพื่อความปลอดภัยสมควรให้วิศวกรเข้าตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป