ประกันสังคม แจงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

29 มีนาคม 2568

ประกันสังคม แจงรายละเอียด ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว จะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งบาดเจ็บ-สูญเสีย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น สำนักงานประกันสังคม กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งสำรวจผลกระทบต่อแรงงานและสถานประกอบการในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ประสบอันตรายขณะปฎิบัติงาน จากเหตุอาคารถล่มจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทน  ดังนี้

 

1.กรณีบาดเจ็บ 

  • ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท  หากบาดเจ็บรุนแรงจ่ายให้สูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาทในกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลภาคเอกชน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชนแล้วรักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษา จ่ายค่ารักษาเท่าที่จริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา
  • ค่าทดแทนรายเดือน กรณีที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จ่าย ไม่เกินหนึ่งปี ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน

 

2.กรณีสูญเสียอวัยวะ/สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน

 

จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 120 เดือน

 

3.กรณีทุพพลภาพจ่ายค่าทดแทนรายเดือน

 

ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต

 

4.กรณีเสียชีวิตหรือสูญหาย 

  • จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ให้กับผู้มีสิทธิเป็นระยะเวลา 10 ปี
  • ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท
  • เงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

นอกจากนี้ ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพ  และ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพตามอัตราดังนี้

 

ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท 

 

ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท

 

หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา

 

ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 160,000 บาท

 

ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท 

 

กรณีประสบอันตราย ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน จากเหตุแผ่นดินไหว 

 

1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ภายใน 72 ชั่วโมง อัตราตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์

  

2.กรณีนายจ้างปิด สถานประกอบการจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว 

 

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีว่างงานสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน 

 

ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2 – 01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศได้ทันที พร้อมหนังสือรับรองจากนายจ้าง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแท

 

รายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด/ สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 กด 9 (เริ่มให้บริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าของวันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ) และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

Thailand Web Stat