เปิดรายละเอียด! มาตรการเยียวยา ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ หลังแผ่นดินไหว

07 เมษายน 2568

รัฐบาลเร่งเยียวยา! ออกมาตรการช่วยเหลือ "นายจ้าง-ลูกจ้าง" ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทั้งค่าชดเชย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่โดยเร็ว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา "นายจ้างและลูกจ้าง" ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา 

 

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้ความคุ้มครองตามกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

 

โดยมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว

เปิดรายละเอียด! มาตรการเยียวยา ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ หลังแผ่นดินไหว

มาตรการช่วยเหลือ ‘นายจ้าง’ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

 

  • กรณีสถานประกอบกิจการต้องปิดตัวหรือเลิกจ้าง: รัฐบาลยืนยันให้ความคุ้มครองด้านค่าจ้างถึงวันทำงานสุดท้าย รวมถึงจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (หากไม่มีการแจ้งล่วงหน้า)

 

  • กรณีหยุดกิจการชั่วคราว: ลูกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้าง หากไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ นอกจากนี้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ลูกจ้างสามารถขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

 

  • สนับสนุนการปรับปรุงความปลอดภัย: รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนสถานประกอบกิจการในการปรับปรุงความปลอดภัยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น บริการตรวจสอบระบบไฟฟ้า เครื่องจักร และปั้นจั่น

 

  • วงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ: สถานประกอบกิจการสามารถขอวงเงินกู้จากกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ โดยไม่จำกัดวงเงิน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และผ่อนชำระได้นานสูงสุด 5 ปี

เปิดรายละเอียด! มาตรการเยียวยา ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ หลังแผ่นดินไหว

มาตรการช่วยเหลือ ‘ลูกจ้าง’ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

 

  • สิทธิการได้รับการชดเชย: ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง หรือกรณีที่สถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว จะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานอย่างเต็มที่

 

  • เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์: ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ สามารถขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานได้ในวงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และมีระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี

 

ทั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 2660 2180

 

หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 สายด่วน 1546

Thailand Web Stat