posttoday

ถอดสูตรความสำเร็จ และ ประวัติ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์

05 สิงหาคม 2567

การเข้าชิงชนะเเลิศโอลิมปิก เกมส์ 2024 ของ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแบดมินตันไทย โพสต์ ทูเดย์ พาไปถอดสูตรความสำเร็จของ "วิว กุลวุฒิ" นักแบดมินตันที่สร้างปรากฎการณ์ให้ทีมไทยในโอลิมปิกครั้งนี้

"ผมตั้งเป้าที่จะเป็นแชมป์โลก แชมป์ ออลอิงแลนด์ เหรียญทองโอลิมปิก" 

คำประกาศมุ่งมั่นใจการให้สัมภาษณ์ของ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เจ้าของแบดมินตัน มือ 8 โลก ของไทยที่มักจะพูดถึงความฝันและความตั้งใจของเขาในการเล่นแบดมินตัน 

วิวเริ่มต้นจากการเล่นเพื่อสุขภาพ พัฒนาสู่การเป็นนักกีฬาเยาวชนที่โดดเด่น และก้าวขึ้นสู่การเป็นแชมป์โลก เจ้าตัวแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและความมุ่งมั่นในการเล่นแบดมินตัน
ถอดสูตรความสำเร็จ และ ประวัติ \"วิว\" กุลวุฒิ วิทิตศานต์

กุลวุฒิ วิทิตศานต์  เป็นบุตรของนายณัฐวัชร และนางนัฎกนก วิทิตศานต์ มีน้องสาว 1 คน คือ น.ส.สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ หรือส้ม ซึ่งเป็นนักกีฬาแบดมินตันเช่นกัน 

เจ้าตัวเริ่มเล่นแบดมินตันครั้งแรกตอนอายุ 7 ปี เนื่องจากคุณพ่อเป็นโค้ช สอนแบดมินตัน จึงได้เดินทางไปดูพ่อสอนแบดมินตันที่สนามบ่อยครั้ง มีโอกาสได้ฝึกกับพ่อ จนเกิดความชอบจนเริ่มเรียนแบดมินตันจริงจัง กับชมรมแบดมินตันเสนานิคม และย้ายมาอยู่ชมรมแบดมินตันอมาตยกุล จนอายุ 13 ปี ก็ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด และฝึกซ้อมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

วิว กุลวุฒิในวัยเด็กหัดตีแบดมินตัน

การมาเล่นแบดมินตัน จนมีชื่อเสียงของวิว ทำให้เขาสร้างอาชีพและมีรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว แต่สิ่งที่เขาแลกมากับความสำเร็จคือการอดทนต่อสิ่งเร้าต่างๆที่เข้ามาในช่วงที่กำลังโตเป็นวัยรุ่น

วิว กุลวุฒิ ผู้กวาดแทบทุกแชมป์มาตั้งแต่ระดับเยาวชน

“จริง ๆ แล้ว ครอบครัวของผมไม่ได้มีฐานะมาก แบดมินตันทำให้ผมเห็นศักยภาพตัวเองว่าสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ ก็เลยอยากเล่นแบดจริงจังและตั้งใจฝึกซ้อมตั้งแต่เด็ก"

"ผมไม่เคยซีเรียสที่จะไม่ได้ไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่นนะ สำหรับตอนนี้ถือว่าทำได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ผมก็จะพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พอผมเริ่มเข้าโรงเรียนบ้านทองหยอด ได้ไปแข่งขันจริงจัง ก็เริ่มตั้งเป้าหมายว่าอย่างน้อยต้องมีรางวัลติดไม้ติดมือบ้าง จะได้เป็นกำลังใจในการเล่นแบดต่อไป และพอโตขึ้นเป้าหมายสูงสุดของผมก็ใหญ่ขึ้นคือการเป็นแชมป์โลก แชมป์โอลิมปิก แล้วก็แชมป์ออล อิงค์แลนด์ครับ” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ กล่าวไว้ก่อนเดินทางมาแข่งโอลิมปิกที่ฝรั่งเศส

"สิ่งที่เป็นพิษสงในตัวผมต่อคู่แข่งคือเกมรับครับ" เมื่อถูกถามถึงจุดแข็งของเขา วิว ตอบแบบมั่นใจว่า เกมรับของเขาคือสิ่งที่คู่แข่งกินยากที่สุด

ซ้อมหนักและมีวินัยเท่านั้นคือสิ่งที่ กุลวุฒิ ยึดมาตลอด
 

ซึ่งก็ตรงอย่างที่เจ้าตัวมั่นใจ เพราะในโอลิมปิกครั้งนี้ กุลวุฒิ มีเกมรับที่เหนียวแน่นมาก บางแต้มคู่แข่งไล่ตบจนท้อ วิวรับได้หมดแถมสวนไปแต่ละช็อตหนักๆทั้งนั้น 

ส่วนจุดที่เขาปรับปรุงคือเรื่องการควบคุมอารมณ์ในสนาม เจ้าตัวบอกว่าสมัยเล่นระดับเยาวชน หากตีไม่ดีมักจะหงุดหงิดตลอด แต่พอขยับมาเล่นในระดับบุคคลทั่วไป การควบคุมอารมณ์เริ่มดีขึ้น

"ผมจะเตือนตัวเองตลอดว่าอย่าวอกแวก พยายามทำให้ดีที่สุด อย่าให้ต้องเสียใจทีหลัง” วิวเสริม

จะเห็นได้ว่าโอลิมปิก เกมส์ครั้งนี้ กุลวุฒิ เล่นอย่างมีสมาธิไม่มีเขว ไม่ยิ้ม ไม่เล่นมากนักเหมือนการแข่งในรายการอื่นๆ จะมีระเบิดอารมณ์สะใจเป็นท่าดีใจต่างๆออกมาหลังจากจบแมตช์แล้วเท่านั้น

ถอดสูตรความสำเร็จ และ ประวัติ \"วิว\" กุลวุฒิ วิทิตศานต์

เรื่องราวความสำเร็จของวิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ คือ ความมีวินัย ตั้งใจ ขยัน และอดทน เขาซ้อมหนักทุกวัน และพักสัปดาห์ละครั้ง นี่คือวินัยขั้นพื้นฐานที่นักกีฬาทุกคนต้องมี ทำให้เจ้าตัวรู้ว่าสิ่งไหนต้องทำก่อนหรือหลัง 

และนี่คือสูตรความสำเร็จของ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 

ถอดสูตรความสำเร็จ และ ประวัติ \"วิว\" กุลวุฒิ วิทิตศานต์

บ้านทองหยอด โรงงาน จากสร้างนักแบดแชมป์โลก ต่อยอดสู่เหรียญทองโอลิมปิก 

ทุกคนทราบกันดีกว่า กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เป็นนักแบดมินตันในสังกัดบ้านทองหยอด ซึ่งวิวไปฝึกที่นี่ตั้งแต่เด็ก "แม่ปุก" กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้งสโมสรบ้านทองหยอดเผยกับทีมข่าว โพสต์ ทูเดย์ ว่า "น้องวิว" เดินทางมาขอฝึกแบดฯที่นี่เพราะเขาตั้งใจจะเป็นแชมป์โลกเหมือนพี่เมย์

ชื่อของสโมสรบ้านทองหยอด โด่งดังมานานแล้วและคนที่สร้างชื่อให้สถานที่แห่งนี้คือ "เมย์" รัชนก อินทนนท์ สาวน้อยมหัศจรรย์ ผู้ได้แชมป์โลกในประเภทหญิงเดี่ยวเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ 

และการให้สัมภาษณ์ของแม่ปุก กมลา ทองกร เธอไม่เพียงแค่จะปั้นแค่นักกีฬาสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเท่านั้น แต่เธอบอกว่าจะปั้นนักแบดไทยให้ได้แชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิกด้วย

สำหรับบ้านทองหยอดเป็นสโมสรแบดมินตันชื่อดังของไทย ก่อตั้งโดยกมลา ทองกร ด้วยความรักในกีฬาแบดมินตัน โรงเรียนนี้ไม่เพียงแต่สอนแบดมินตัน แต่ยังสร้างนักกีฬาระดับโลกด้วย

กมลา ทองกร กับ วิว กุลวุฒิ เมื่อครั้งเดินทางกลับมาจากการคว้าแชมป์โลก

ปัจจุบัน มีนักเรียนประมาณ 300 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม
1. นักเรียนทั่วไป: เสียค่าเรียนเดือนละ 8,000-12,000 บาท
2. นักกีฬาทุน: ได้เรียนฟรีพร้อมที่พัก

รายได้ของโรงเรียนอยู่ที่ประมาณ 36 ล้านบาทต่อปี แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างนักกีฬามืออาชีพสูงมาก โดยเฉลี่ยแล้วนักกีฬาหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายเกือบ 1 ล้านบาทต่อเดือน

กมลาเน้นว่า เงินทั้งหมดนี้ถูกใช้เพื่อพัฒนานักกีฬา โดยนักกีฬาไม่มีเงินเดือน แต่เก็บเงินรางวัลจากการแข่งขันไว้ใช้ส่วนตัว และแบ่ง 10% เข้ากองทุนเพื่อสนับสนุนนักกีฬารุ่นต่อไป

ความสำเร็จของบ้านทองหยอด

- สร้างแชมป์โลก 2 คน: รัชนก อินทนนท์ (2013) และ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (2023)

- มุ่งเน้นการพัฒนานักกีฬาระยะยาว ไม่ใช่กำไรระยะสั้น

กมลามีความฝันที่จะสร้างนักกีฬาระดับโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานและการลงทุนสูง แต่เธอเชื่อว่าการลงทุนนี้จะช่วยค้นพบและพัฒนาความสามารถของเด็กๆ ให้ก้าวสู่ระดับโลกได้ในอนาคต

บ้านทองหยอดจึงไม่ใช่เพียงโรงเรียนสอนแบดมินตัน แต่เป็นสถาบันที่มุ่งมั่นสร้างนักกีฬาคุณภาพเพื่อวงการแบดมินตันไทยอย่างแท้จริง
ถอดสูตรความสำเร็จ และ ประวัติ \"วิว\" กุลวุฒิ วิทิตศานต์