posttoday

ภาพชุด ความสวยงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

28 ตุลาคม 2567

ชมภาพชุดพระราชพิธี ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แสดงให้เห็นความสวยงามของวัฒนธรรมไทยต่อสายตาชาวโลก

สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในปี 2567 นี้ กองทัพเรือ (ทร.) ดำเนินการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือเข้าร่วมฝึกซ้อมในทุกริ้วขบวน 2,412  นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ  รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม เรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวน เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

 

 ส่วนริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ ระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรีถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม รวม 3.9 กิโลเมตร  โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก และ พันจ่าเอกพูลศักดิ์ กลิ่นบัว  สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี 4 บทประพันธ์ โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วยบทสรรเสริญพระบารมี  บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง

 

ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี ได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (บก) หรือชลมารค (น้ำ) เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐาน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น

 

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น และจัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้ เรียกว่า “ขบวนพุทธพยุหยาตรา” การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง มาสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562